คปภ.-กรมการปกครอง ลงนามร่วมส่งเสริมด้านประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ

“สำนักงาน คปภ. – กรมการปกครอง” บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกัน รณรงค์ให้ประชาชนทำประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ว่าด้วยการบูรณาการส่งเสริมความรู้การประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระหว่างกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานและสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ


เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงาน คปภ. และกรมการปกครอง ในครั้งนี้ มีความประสงค์หลัก ๆ คือ การประสานความร่วมมือเพื่อรณรงค์และให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ในการส่งเสริมการจัดทำประกันภัย และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. และการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและแผนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกของหน่วยงานระดับพื้นที่ในส่วนภูมิภาคร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ประชาชนเจ้าของรถตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และรับรู้ถึงหน้าที่และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อย่างทั่วถึงและมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการนำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม


ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติข้อมูลรถจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก และข้อมูลการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ที่มีผลใช้บังคับ ในปี 2565 พบว่า การจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 90 ส่วนการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 64 ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่ต่ำ ดังนั้นเมื่อมีประชาชนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ประชาชนเสียสิทธิประโยชน์ในการได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ด้วยเช่นกัน โดยผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ก็จะมาขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ที่มีภารกิจในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งปัจจุบันกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีแนวโน้มการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2565 กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวน 8,024 ราย รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 157 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย พบว่า จะมีการเรียกร้องจากกรณีรถไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. กว่าร้อยละ 80 ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการบูรณาการร่วมกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ในครั้งนี้  ซึ่งกรมการปกครองมีบุคลากรเป็นจำนวนมากที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงให้การสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก และอบรมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่มีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนได้รับความคุ้มครองและมีความปลอดภัย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของสำนักงาน คปภ. โดยเฉพาะการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย พ.ร.บ. ให้แก่ประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึง


ด้าน นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการเริ่มต้นความร่วมมือและการบูรณาการระหว่างกรมการปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยที่ผ่านมากรมการปกครองตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุจาการใช้รถใช้ถนนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และสอดรับกับภารกิจของกรมการปกครองในการประสานความร่วมมือกับ สำนักงาน คปภ. เพื่อให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกด้านการเชื่อมโยงข้อมูลงานด้านทะเบียนราษฎร และใช้กลไกหน่วยงานปกครองในระดับพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น ในการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. และให้บุคลากรของหน่วยงานปกครองในระดับพื้นที่เข้ารับการอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. ตลอดจนมีการสำรวจการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ของรถในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเจ้าของรถทุกคันตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และรับรู้ถึงหน้าที่และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อย่างทั่วถึง รวมถึงรณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายเมื่อมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประกันภัย พ.ร.บ. มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยจะได้รับความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องมาจากการประสบภัยจากรถ โดยผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อเยียวยาความเสียหายอย่างทันท่วงทีและไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด รวมถึงค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย  โดยความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. จะแบ่งเป็น 2 ส่วน หลัก ๆ คือ ส่วนแรก ค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นการจ่ายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด โดยจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ซึ่งจ่ายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน โดยจ่ายเป็น ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 30,000 บาท ค่าปลงศพหรือค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ รายละ 35,000 บาท  รวมทั้ง กรณีที่ได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะจะได้รับสูงสุดไม่เกินรายละ 65,000 บาท

ส่วนที่ 2 ค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหายส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) จ่ายให้ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ความรับผิดแล้ว โดยจ่ายกรณีบาดเจ็บจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามกรมธรรม์ฯ ไม่เกิน 80,000 บาท (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท แล้วแต่กรณี (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) และหากเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะได้รับค่าชดเชยรายวันอีกวันละ 200 บาทไม่เกิน 20 วันอีกด้วย

“การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ กรมการปกครอง ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการเสริมสร้างความรู้และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ของประชาชนเจ้าของรถในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย