FETCO ร่วมกับ CMDF จัดสัมมนาเสนอแนวทางการพัฒนาตลาดการเงิน Private Market ขับเคลื่อนนวัตกรรมไทย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดสัมมนา“Private Market: โอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย” เผยผลการศึกษาแนวทางการส่งเสริมระบบนิเวศ Startup ด้วยโครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงโอกาสในการพัฒนาตลาด Private Debt ในประเทศไทย พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนและธุรกิจนวัตกรรมของประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมรับฟัง

งานสัมมนา “Private Market: โอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย” จัดขึ้น โดยมี ดรกอบศักดิ์ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดงาน และได้ให้ความเห็นว่า การจัดงานสัมมนาในวันนี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาตลาดPrivate Market ในประเทศไทย ทั้งธุรกิจ Private Debt และธุรกิจ Venture Capital (VC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้กับทั้งผู้ระดมทุนและนักลงทุน รวมถึงการส่งเสริม Startup และธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมความพร้อมและร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยได้ดียิ่งขึ้น

คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อการส่งเสริมการลงทุนใน Innovative Business ของประเทศไทย” โดยกล่าวว่า “จากยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอที่ได้เริ่มใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้บรรลุผล 3 ประการ ประกอบด้วย (1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (2) Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง  และ (3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ในการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์นั้น จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบีโอไอจะใช้เครื่องมือสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผลดังกล่าวผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การให้บริการแบบครบวงจร และการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน เพื่อไปสู่เป้าหมายและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

 ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวถึงผลการศึกษา “Private Debt Feasibility Study: Opportunities for the Thai Capital Market” ของดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ว่า “บริษัทขนาดกลางที่เพิ่งเกิดขึ้นและมีผลประกอบการที่ดีและมีศักยภาพ กำลังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ โดยพบว่า ในต่างประเทศที่มีปัญหาคล้ายกัน การทำให้มี private debt ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ โดยผลการศึกษา “Future of the Thai Startup and Venture Capital Ecosystem” พบว่าปัญหาที่ Startup ไทยเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เงินทุนระยะเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อ Startup ในการดำเนินธุรกิจในขณะที่ VC หลายๆ แห่งมองว่าระบบนิเวศ Startup ในไทยยังมีขนาดเล็กและไม่ได้พัฒนามากนัก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนานี้

คุณชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เปิดเผยว่า CMDF สนับสนุนการศึกษาดังกล่าวเป็นการมองภาพการพัฒนาตลาดทุนในอนาคต จึงอาจต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับ Stakeholders ในประเทศ เพื่อเปิดรับการเปลี่ยนแปลงอันจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย CMDF คาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับนำข้อเสนอจากงานสัมมนานี้เพื่อพิจารณายกระบบนิเวศในตลาดทุนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “Private Investment and Innovation of Thailand” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดย คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทย        ผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association-TVCA) ได้ให้ความเห็นว่า “จิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการและความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจถือเป็นเป้าหมายชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่มาหลายชั่วอายุคน ประเทศไทยมีศักยภาพ คือมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีพัฒนาการอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบุคลากรที่มีความสามารถ จึงพร้อมที่จะทำให้ความฝันดังกล่าวของประชาชนกลายเป็นความจริงได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขณะนี้เรากำลังตกอยู่ในภาวะสงครามซึ่งไม่ได้ต่อสู้และเอาชนะกันด้วยอาวุธและกำลัง แต่เป็นการต่อสู้และเอาชนะกันด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทรัพยากรทางการเงิน เพื่อแย่งชิงตำแหน่งเจ้าแห่งนวัตกรรมในภูมิภาค เรากำลังแพ้สงครามนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียอิสรภาพทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ต่างชาติ ภาคเอกชนได้พยายามต่อสู้ในแนวหน้าแล้ว แต่เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ภาคเอกชนและภาครัฐต้องผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดให้เรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนกลางในการระดมทรัพยากรที่จำเป็นทั้งบุคลากรและงบประมาณเพื่อเอาชนะสงครามในครั้งนี้ และรักษาจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการและความฝันของคนไทยให้ยังคงดำรงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป

คุณยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) กล่าวว่า “เป้าหมายของสมาคมThai Startup คือเปลี่ยนประเทศไทยจากสถานะ User เป็น Maker เรามั่นใจว่ายิ่งมีทุนสนับสนุนให้Startup ช่วงเริ่มต้นได้มากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสสร้าง Maker ที่ผลิตนวัตกรรม Made in Thailand ส่งออกไปต่างประเทศในอนาคตได้มากเท่านั้น