TIDLOR โชว์กำไรปี 65 ทำนิวไฮ พุ่งแตะ 3640 ลบ

TIDLOR โชว์กำไรปี 65 ทำนิวไฮ พุ่งแตะ 3,640 ลบ. โต 15% จากปีก่อน

รับพอร์ตสินเชื่อและธุรกิจนายหน้าประกันภัยโตแกร่ง

 

บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) โชว์ผลประกอบการปี 65 โตแกร่ง  ทำนิวไฮ กวาดกำไรสุทธิ 3,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า รับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวภายหลังโควิดคลี่คลาย พอร์ตสินเชื่อขยายตัวแข็งแกร่งที่ 32% และธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะประกันวินาศภัยโตกว่า 34% ขณะที่รักษา NPLs อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.58%

 

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปี 2565 บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจนายหน้าประกันภัย ตอบรับเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวภายหลัง          การคลี่คลายของ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและ   แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น โดยบริษัทฯมีรายได้รวม 15,274 ล้านบาท เติบโต 27% และมีกำไรสุทธิ 3,640 ล้านบาท  ปรับตัวขึ้น 15% จากปีก่อน

 

โดยพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 81,265 ล้านบาท เติบโตถึง 32% จากความสำเร็จของบัตรติดล้อ (TIDLOR Card) ทั้งสำหรับรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ การขยายสาขาอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแคมเปญในปีที่ผ่านมา รวมถึงความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเสริมสภาพคล่อง และเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาดำเนินธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ค่าเบี้ยประกันวินาศภัยในปี 2565                สูงเกือบ 7 พันล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 34% จากปีที่ผ่านมา โดยยังคงการเติบโตได้ดี                ในระดับ 30-35% ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีที่ผ่านมา 

บริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายพิจารณาสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพและระมัดระวัง อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.52% ณ ไตรมาส 3/2565 มาอยู่ที่ 1.58% ณ สิ้นปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในอัตราไม่เกิน 2% และยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมและคู่แข่ง รวมถึงยังคงอัตราการสำรองหนี้ในระดับสูง นอกจากนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ที่ระดับ ‘A’ จากทริสเรทติ้ง ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ ซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ จากการที่ TIDLOR มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อและประกันภัย อีกทั้งยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์    ‘บัตรติดล้อ’ (TIDLOR Card) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้สามารถกดเงินสดตามวงเงินที่ได้รับจากตู้เอทีเอ็มธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั่วประเทศเกือบ 50,000 ตู้                 โดย ณ สิ้นปี 2565 ได้ออกบัตรติดล้อไปแล้วจำนวนมากกว่า 490,000 ใบ รวมถึงการมีช่องทางให้บริการแก่ลูกค้าที่หลากหลาย (Omni-Channel) ทั้งช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 1,628 สาขา นอกจากนี้แบรนด์         ‘ประกันติดล้อ’ และฟีเจอร์ต่ออายุประกันภัยในแอปพลิเคชันเงินติดล้อที่มีการเปิดตัวในปีที่ผ่านมา      มีการตอบรับที่ดี สร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าอีกด้วย ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเงินติดล้อเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.tidlor.com และ Facebook เงินติดล้อ หรือสอบถามรายละเอียดผลิตภัณฑ์และบริการได้ที่ call center หมายเลข 088-088-0880 ตลอด 24 ชม.

--------------------------------------------------------------

เกี่ยวกับ บมจ.เงินติดล้อ:

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น TIDLOR เป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อลูกค้ารายย่อยซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านการบุกเบิกและนำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ของลูกค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายหลากหลาย (Omni-channel) โดยแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันครบวงจร และธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่มีนายหน้ามืออาชีพมีใบอนุญาตถูกต้อง พร้อมให้คำปรึกษาด้านประกันภัยทุกสาขาทั่วประเทศ ภายใต้แบรนด์ “เงินติดล้อ” โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเพื่อสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส ให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และ/หรือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลักของธนาคารได้อย่างเพียงพอหรือทันที (Under-Banked) และยังส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมโอกาสด้านความรู้ด้านการเงินและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนมีชีวิตหมุนต่อได้อย่างยั่งยืน