เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กนอ.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมีนายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบอร์ดกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย นายภาณุ จันทร์เจียวใช้ บอร์ดกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตลอดจนคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปี 2565 สำนักงานคปภ. ได้ดำเนินการโครงการรณรงค์เชิงรุกการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน เพื่อรณรงค์และส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ โดยได้รับเกียรติจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นประธานเปิดโครงการฯ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ต่อมาได้มีการขยายการดำเนินงานในทางปฏิบัติสู่ระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ด้าน รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กนอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยพ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่มาโดยตลอด เพราะเล็งเห็นว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะนํามาถึงการสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมผนึกความร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. ในการเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์และผลักดันให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถทุกคันในนิคมอุตสาหกรรมมีการจัดทำ ประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตต่อตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม โดยในปีนี้กำหนดเจาะกลุ่มเป้าหมายที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานครและนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมทั้งสามแห่งมีโรงงาน จำนวน496 แห่ง คนงาน จำนวน 133,000 คน รถยนต์ จำนวน 13,500 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 18,000 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทาง
ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและบูรณาการผลักดันให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถและผู้ครอบครองรถในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ สำนักงาน คปภ. และ กนอ. ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกัน 2 แนวทางหลัก ๆ คือ แนวทางแรก ความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันภัย พ.ร.บ. และบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำประกันภัย พ.ร.บ. อาทิเช่นประโยชน์ของการทำประกันภัย พ.ร.บ. บทลงโทษจากการฝ่าฝืนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. นอกจากนี้จะมีการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความปลอดภัยให้ความร่วมมือกับรัฐในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงโดยใช้ระบบประกันภัย พ.ร.บ. เป็นเครื่องมือ
แนวทางที่สอง ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิชาการด้านประกันภัย พ.ร.บ.
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินงานในการขับเคลื่อนด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัยพ.ร.บ. เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยในปัจจุบันหากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 504,000 บาท หรือ กรณีได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายจะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 84,000 บาท การขยายช่องทางการจำหน่ายประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนสามารถซื้อหรือต่อประกันภัย พ.ร.บ. ที่สะดวกยิ่งขึ้น ได้แก่ ช่องทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และเคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 นอกเหนือจากการซื้อผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย เป็นต้น
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีระยะเวลา ความคุ้มครองระยะยาว 3 - 5 ปี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการเพิ่มทางเลือก รวมถึงให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยกรณีซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ระยะยาว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีการทำประกันภัย พ.ร.บ. ระยะยาวสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นประเภทรถที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ตลอดจนช่วยลดจำนวนการขาดต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ผ่านระบบสารสนเทศในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับก่อนชำระภาษีรถยนต์ประจำปี เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการต่อภาษีรถ การบูรณาการความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด เป็นต้น
“การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ กนอ. ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานแบบเชิงรุกอย่างเป็นระบบ โดย กนอ. ถือเป็นพื้นที่นำร่องที่สำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. ในการรณรงค์ให้เจ้าของรถทุกคันมีประกันภัยพ.ร.บ. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย