บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ วีจีไอ (“VGI”) ผู้นำการตลาด Offline-to-Online (“O2O”) Solutions บนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย นำโดย คุณจิตเกษม หมู่มิ่ง ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการเงิน เป็นตัวแทนเข้ารับรางวัลเกียรติยศ ในฐานะสุดยอดองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ จากเวที ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022 ที่จัดขึ้นโดยหลักสูตรปริญญาโท ด้านแบรนด์และการตลาด (MBM) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 6 ที่วีจีไอได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุด สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งในการมุ่งมั่นสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างเสมอมา ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ มีมูลค่าแบรนด์ตามราคาตลาดปัจจุบันที่ 48,612 ล้านบาท (ราคา ณ วันที่ 18 มกราคม 2566)
คุณจิตเกษม หมู่มิ่ง ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการเงิน บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “รางวัลสุดยอดองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุด จากเวที ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022 นับเป็นการได้รางวัลครั้งที่ 6 ของ วีจีไอ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบริษัทในการเป็นผู้นำโซลูชั่นส์แห่งอนาคตที่การันตีด้วยศักยภาพของ Ecosystem ของบริษัททั้ง 3 แพลตฟอร์มธุรกิจ ได้แก่ แพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจการจัดจำหน่าย ที่สามารถสร้างรากฐานให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีเอกลักษณ์และโดดเด่นที่สุดในอุตสาหกรรมสื่อ นอกจากนี้ยังคงเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทฯ เอาไว้ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากคาดเดา”
สำหรับการวัดมูลค่าแบรนด์นั้นมาจากการพัฒนาเครื่องมือชี้วัดมูลค่าแบรนด์องค์กร CBS Valuation (Corporate Brand Success Valuation) โดยศาสตราจารย์ ดร.กุณฑลี รื่นรมย์และอาจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้สำหรับทำงานวิจัยเรื่องการวัดมูลค่าและการจัดอันดับแบรนด์องค์กรใน ASEAN และประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาการวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเพื่อให้ทราบถึงมูลค่าที่เป็นตัวเงิน เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาแบรนด์องค์กรเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยรวมไปถึงการเติบโตอย่างมีศักยภาพขององค์กรที่จะสามารถส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย