จากจุดเริ่มต้นที่บรรพบุรุษตระกูลซิ้ม ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน จวบจนในปี พ.ศ. 2429 ได้มี ชาวแซ่ซิ้มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านวงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีจำนวนมากขึ้น จึงได้ริเริ่มก่อตั้งศาลเจ้าแซ่ซิ้มขึ้น โดยได้รวบรวมเงินจากลูกหลานแซ่ซิ้ม และก่อสร้างศาลเจ้าแซ่ซิ้มขึ้นมา ทำให้ลูกหลานชาวแซ่ซิ้มได้มีศาลเจ้าสำหรับสักการะบูชาบรรพบุรุษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และนับเป็นศาลเจ้าประจำตระกูลที่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนตระกูลอื่นใดทั้งหมด เดิมศาลเจ้าแซ่ซิ้ม ตัวอาคารมีเนื้อที่เพียง 20 ตารางวาเท่านั้น และโครงสร้างเป็นแบบง่ายๆ เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป ตัวอาคารก็เริ่มเก่าแก่และชำรุดลง ประกอบกับพี่น้องร่วมตระกูลซิ้มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ลูกหลานชาวตระกูลซิ้ม รวมถึงบุคคลทั่วไปพากันมากราบไหว้บูชาที่ศาลเจ้ามากขึ้น คณะกรรมการชาวตระกูลซิ้ม จึงได้ทำการซ่อมแซมและขยับขยายพื้นที่ให้กว้างขวางออกไปอยู่เรื่อยมาเป็นระยะๆ
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2505 คณะกรรมการ ได้ปรึกษาหารือกันและเห็นสมควรว่าจะก่อสร้างศาลเจ้า แซ่ซิ้มขึ้นใหม่ให้กว้างขวางและงดงามยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะศาลเจ้าหลังเดิมนอกจากจะชำรุดทรุดโทรมแล้ว บริเวณศาลเจ้ายังคับแคบไม่พอเพียงแก่ลูกหลานชาวตระกูลซิ้ม และประชาชนอื่นทั่วไปที่เข้ามาทำพิธีกรรม กราบไหว้บูชา คณะกรรมการในขณะนั้น ต่างมีความเห็นพร้อมและได้ก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่ขึ้น
จนถึงปี พ.ศ.2565 ศาลเจ้าแซ่ซิ้มที่สร้างขึ้นใหม่ได้ผ่านกาลเวลามากว่า 57 ปี ได้ทรุดโทรม ไปตามกาลเวลาคณะกรรมการจึงดำเนินการสร้างเสามังกรหินแกรนิตแกะสลัก สูง 18.2 เมตร และศาลทีกง ขึ้นใหม่ แทนที่ของเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม รวมถึงการบูรณะซ่อม-สร้าง ศาลเจ้าแซ่ซิ้ม และซ่อมแซมปรับปรุงอาคารหอประชุม ที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รวมงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการกว่า 20,000,000 บาท และด้วยความร่วมแรงร่วมใจ การก่อสร้างจึงได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นการซ่อมสร้าง และบูรณะศาลเจ้าแซ่ซิ้ม กรุงเทพ ครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่มีการสร้างศาลเจ้าซิ้มขึ้นมา และในโอกาสที่เป็นมงคลนี้ ลูกหลานชาวแซ่ซิ้มจึงได้จัดงาน เฉลิมฉลองศาลเจ้าแซ่ซิ้ม กรุงเทพ (ตากสิน) ในโอกาสครบรอบ 136 ปี ขึ้นมาในคราวเดียวกัน
ถึงแม้ว่าศาลเจ้าแซ่ซิ้ม หรือเรียกชื่อว่า มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ซิ้มกงจืออี่) ได้รับการสนับสนุน ร่วมมือร่วมใจจากชาวตระกูลซิ้มจนมีความเจริญก้าวหน้า และเป็นที่รู้จักในสังคมขึ้นเป็นลำดับ จากความร่วมมือร่วมใจของชาวตระกูลซิ้ม แต่ด้วยภาระหน้าที่ของชาวตระกูลซิ้ม ยังไม่สิ้นสุดเพียงนี้ ยังคงจะต้องมีการขยายกิจการงานออกไป เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่พี่น้องชาวตระกูลซิ้มตลอดจนพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้ศาลเจ้าแซ่ซิ้มหรือมูลนิธีสีมาสงเคราะห์ (ซิ้มกงจืออี่) มีความยั่งยืน เป็นศูนย์กลางของตระกูล และร่วมด้วยช่วยเหลือและตอบแทนคนในสังคมไทยได้อย่างถาวรสืบต่อไป