คปภ.ไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นายทะเบียนประกันภัยอาเซียนประจำปี 2565 ครั้งที่ 25

คปภ.ไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นายทะเบียนประกันภัยอาเซียนประจำปี 2565 ครั้งที่ 25 แจ้งเกิดแนวคิดผลิตภัณฑ์ประกันภัยอาเซียนเพื่อความยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีแชร์ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามกระบวนการฉ้อฉลประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียนประจำปี 2565 ครั้งที่ 25 (25th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting หรือ AIRM) ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคระหว่าง regulators ด้านประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และพัฒนาการประกันภัยของแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการต่าง  ของประเทศสมาชิกในด้านพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565  ห้อง Ballroom 1-2 โรงแรมแชง-กรีลา กรุงเทพฯ ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยของอาเซียน มีการจัดประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียนครั้งที่ 48 (The 48th ASEAN Insurance Council หรือ AIC) คู่ขนานกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกันในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในอาเซียน นอกจากนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ยังมีการประชุมร่วมกันระหว่าง AIRM และ AIC (Joint Plenary Meeting) อีกด้วย



ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมฯ AIRM ครั้งที่ 25 และการประชุม AIC ครั้งที่ 48 โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ประกันภัยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาวที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับนอกจากนี้การประกันภัยยังเข้ามามีบทบาทต่อการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนสังคมและประชาชนให้ได้รับโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในการจัดประชุมหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยในกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยรวมถึงความต้องการของภาคธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง  เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง  ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจประกันภัยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีการพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีประกันภัยอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยที่อุบัติใหม่และส่งผลทำให้ระบบประกันภัยมีความโดดเด่นในเรื่องของการรับประกันภัยจากการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่จะต้องใช้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ต่อไป ซึ่งตนมองว่าธุรกิจประกันภัยอาเซียนควรหันมาเน้นการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยความยั่งยืนเพื่อรองรับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญเศรษฐกิจ ESG เพื่อปรับการบริหารงานขององค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และร่วมกันดูแลภาวะโลกร้อน ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีส่วนดูแลสิ่งแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทยได้มีกรมธรรม์ในลักษณะให้ความคุ้มครองทั้งภัยธรรมชาติและประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซี่งประเทศไทยได้ให้ความคุ้มครองภัยแก่เกษตรกรมานานหลายปีแล้ว ในรูปแบบของการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ตนอยากให้เวทีการประชุมในครั้งนี้มีการหารือเกี่ยวกับการประกันสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่แนวทางการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้มีความรัดกุมและสอดคล้องกับกฎ กติกา ของกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคประกันภัยไทย


ด้าน ดรสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) ในฐานะประธานการประชุม AIRM เปิดเผยว่าที่ประชุม AIRM ได้หยิบยกประเด็นการประกันภัยที่ยั่งยืน (Sustainable Insurance) ขึ้นเป็นวาระสำคัญของการประชุมฯ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งสำนักงาน คปภได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของประเทศสมาชิก และได้นำเสนอผลการสำรวจต่อที่ประชุมฯ โดยพบว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อาทิ ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประกันภัยพืชผล ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นต้น อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าในการพัฒนาแนวทางการพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึงมาตรการและแรงจูงใจการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยนำเรื่องความยั่งยืนบรรจุลงในแผนธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งการเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละประเทศที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเด็นในเรื่องนี้


ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภยังได้นำเสนอให้มีโครงการฝึกอบรมหัวข้อประกันภัยสุขภาพดิจิทัลเพื่อความยั่งยืนซึ่งประเทศไทย โดยสำนักงาน คปภรับเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมให้กับบุคลากรของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของอาเซียน ทั้งยังมีโอกาสรายงานให้ประเทศสมาชิกทราบถึงความคืบหน้าและพัฒนาการด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยผ่านโครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox การบรรจุประเด็นด้านความยั่งยืนในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 การจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัย และการมอบรางวัลแก่บริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจ เป็นต้น


นอกจากนี้ สำนักงาน คปภยังได้ผลักดันโครงการเพื่อยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยของอาเซียน  โดยเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านกลไกการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิก ที่จะร่วมกันศึกษาข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยของอาเซียน และต่อยอดสู่การพัฒนาแผนงานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป โดยสำนักงาน คปภเล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก จึงใช้โอกาสในการประชุมครั้งนี้ ผลักดันแนวทางการดำเนินงานด้านการประกันภัยที่ยั่งยืนของอาเซียนให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของภาคธุรกิจประกันภัยให้ก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนในระดับที่สูงขึ้น 


ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีต่อประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในการที่สำนักงาน คปภได้ริเริ่มการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมริเริ่มแนวทางการยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยในอาเซียน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมความยั่งยืนของภาคธุรกิจประกันภัย 

โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบและพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันข้อริเริ่มที่ไทยนำเสนอ


นอกจากนี้ที่ประชุมฯยังได้รับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นคือ ประเด็นแรกความคืบหน้าแผนการดำเนินการภายใต้โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) ในระยะที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวแพลตฟอร์ม ADRFI-2 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศสมาชิกในการประเมินและวางแผนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 

ประเด็นที่ 2 พัฒนาการที่สำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน ซึ่งสำนักงาน คปภได้ร่วมนำเสนอพัฒนาการที่สำคัญของประเทศไทย ด้านการพัฒนากรอบการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัย (Cyber Resilience Assessment Framework: CRAF) สำหรับบริษัทประกันภัย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลของภาคประกันภัยอย่างมั่นคงและปลอดภัย 

ประเด็นที่ 3 ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ ACMI และเชื่อมโยงระบบ ACMI ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยในส่วนของประเทศไทย ได้มีการพัฒนาระบบ ACMI ขึ้นโดยบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในขณะที่สำนักงาน คปภได้ดำเนินการในส่วนของการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานตามพิธีสาร การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น  และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน



นอกจากการประชุม AIRM และการประชุม AIC แล้ว ยังมีการประชุมอื่น  ที่เกี่ยวข้องในฝั่งของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการบริหารของ ASEAN Insurance Training and Research Institute (AITRI) ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารร่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ตลอดจนการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Cross-Sectoral Coordination Committee on Disaster Risk Financing and Insurance (ACSCC on DRFI Capacity Building Workshop) และการประชุมคณะทำงานต่าง  ที่เกี่ยวข้อง ของภาคธุรกิจประกันภัยอาทิ Education Committee Council of Bureaux (COB) ASEAN Natural Disaster Research Work Sharing (ANDREWS) และASEAN Reinsurance Working Group อีกด้วย

โดยในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม AIRM และ AIC แล้ว ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายทะเบียนประกันภัยอาเซียนกับกรรมการและประเทศสมาชิกของสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน(ASEAN Insurance Council) ภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียน ในรูปแบบ Joint Plenary Meeting เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะทำงานชุดต่าง  และได้ข้อสรุปร่วมกันดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญร่วมกัน และได้หารือร่วมกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงการลงทุนในสินทรัพย์ ESG และพิจารณาความสมดุลทางธุรกิจด้วยการใช้ Taxonomy ทั้งในระดับสากลและอาเซียน เป็นหลักนำในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ โดยหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียนจะร่วมกันเดินหน้าหา Win-win situation ในประเด็นนี้ร่วมกันต่อไป

ประเด็นที่ 2 ความท้าทายของการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน อาทิ ความแตกต่างของระบบความรับผิดและการชดเชยความเสียหาย การขาดการยอมรับร่วมกัน (mutual recognition) ในการประกันภัยของประเทศอื่น ซึ่งหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจจะร่วมกันเดินหน้าแก้ไขประเด็นข้อท้าทายเหล่านี้ รวมถึงประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น และผลักดันการพัฒนาระบบ ACMI ให้เป็นดิจิทัล (Digitalization) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน ผ่านช่องทางออนไลน์

ประเด็นที่ 3 ผลกระทบเรื่องการฉ้อฉลในการประกันภัย (Fraud in Insurance) และแนวทางการลดปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องพิจารณาภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่ด้วย

และประเด็นที่ 4 ที่ประชุมฯ ได้รับทราบพร้อมให้การสนับสนุนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรต่าง ภายใต้ AIRM และ AIC ได้แก่ AIC, CoB, AIEC, ANDREWS และ Reinsurance Working Committee และแผนการดำเนินงานในปี 2566 รวมถึงรายงานพัฒนาการที่สำคัญของภาคธุรกิจประกันชีวิต และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย

การประชุม AIRM ครั้งที่ 25 และการประชุม AIC ครั้งที่ 48 ได้รับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลักดันประเด็นใหม่  ให้มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมต่อไปได้ ทั้งนี้ยังมีโอกาสเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่าง  ในอาเซียนเพื่อที่จะผนึกกำลังกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสามารถบูรณาการความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ซึ่งประเด็นใหม่ที่สำนักงาน คปภได้ผลักดันในเวทีนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัยอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้เกิดความสอดคล้องกันในภูมิภาคและเกิดประโยชน์ต่อคนไทย ตลอดจนเป็นการเพิ่มความร่วมมือในการป้องกันและบริหารความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรื่องการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนผู้เอาประกันภัยและภาคธุรกิจประกันภัย” เลขาธิการ คปภกล่าวในตอนท้าย