บริษัท ไทย เอ็น ดี ที ผู้นำการให้บริการเพื่อความปลอดภัยทางวิศวกรรมและการตรวจสอบความปลอดภัยแบบไม่ทำลาย (Non-Destructive Testing – NDT) การทดสอบและการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมร่วมมือลงทุนใน 6 บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้ “TNDT Ventures Lab” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและเทคโนโลยีด้านความยั่งยืน รวมถึงต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง - เล็งขยายสู่ตลาดต่างประเทศ
นายธนรรจ์ ศตวุฒิ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) หรือ TNDT กล่าวว่า จากสตาร์ทอัพที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก TNDT Ventures Lab ร่วมกับบริษัท เอมสไปร์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมและพัฒนาสตาร์ทอัพ ในการคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพพร้อมที่จะร่วมมือพัฒนานวัตกรรมเพื่อขยายตลาดร่วมกับ TNDT จำนวน 4 ราย และสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มจะร่วมลงทุนอีก 2 ราย จากที่ได้เปิดรับสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มในการเชื่อมต่อกับธุรกิจของบริษัทไปเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1. Irissar สตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเรดาห์เซ็นเซอร์และวงจรความถี่สูงสำหรับการตรวจวัดที่ต้องการความแม่นยำสูง , 2.Attra บริษัทสตาร์ทอัพที่มีระบบบริหารจัดการในองค์กรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่จะเข้ามาพัฒนาปรับปรุงระบบการดำเนินงานภายในให้มีประสิทธิภาพ, 3. Artificial Anything สตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI / IoT / MESH และ 4.Centro Vision บริษัทสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีการตรวจสอบด้วยโดรนพร้อมทั้ง AI / Data Analytics / AR&VR
โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยและตรวจวัดในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหาในการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาระบบภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
“การร่วมมือกับสตาร์ทอัพในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของ TNDT ในการเร่งพัฒนานวัตกรรมในแบบhigh speed ให้ทันกับความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก TNDT มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรม มีลูกค้าที่มีความต้องการนวัตกรรมในด้านต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในหลายด้าน การร่วมมือพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างตรงจุดโดยร่วมมือกับบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว จะทำให้สามารถต่อยอดขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว “
นอกจากตลาดในประเทศไทย บริษัทฯ ยังเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยได้มีการขยายการดำเนินธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย ที่มีความต้องการ Advance Technology ในระดับที่สูงมาก ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้าไปตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี การร่วมมือกันในครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นแค่การขยายธุรกิจภายในประเทศ แต่ตั้งเป้าในการเติบโตสู่ตลาดต่างประเทศด้วย เรายังมองว่าการร่วมมือกันนี้ จะช่วยให้สตาร์ทอัพที่มีความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีได้เติบโตไปด้วยกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้แข็งแกร่งขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะเริ่มทดสอบเทคโนโลยีที่พัฒนาร่วมกันภายในปีนี้ และตั้งเป้าในการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ”
ในส่วนของการลงทุน นายธรรจ์ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการพูดคุยบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ 2 รายโดยเป็นการลงทุนเพื่อการขยายตลาดและต่อยอดออกไปสู่ธุรกิจอื่นและลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มเติบโตสูง