ttb ผู้นำธนาคารเพื่อความยั่งยืน เผยผลตอบรับสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมดีทะลุเป้า

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน มุ่งส่งเสริมและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ประกาศความสำเร็จจากการผสานความร่วมมือกับ IFC เป็นธนาคารไทยรายแรกที่บุกเบิกการออกตราสารหนี้สีเขียว เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศอุตสาหกรรมEV ผ่านการขยายสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เผยปี 2565 ปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปกว่า 5,275 ล้านบาท จากเป้าหมายรวม 4,500 ล้านบาทในหลากหลายธุรกิจ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้มุ่งส่งเสริมและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ ตราสารหนี้สีฟ้า (Blue Bond) ผ่านความร่วมมือของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Financial Corporation) หรือ IFC

จากกระแสตอบรับที่เกินคาดภายหลังจากการออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งแรกเมื่อปี 2561 จึงนำมาซึ่งการออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งที่สองเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยธนาคารได้ร่วมลงนามออกตราสารหนี้สีเขียว อายุ 5 ปี โดยมี IFC เป็นผู้ลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,565 ล้านบาท ที่เน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 40% ภายในปี 2573 ผ่านการขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการเลือกใช้ EV ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด(HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV)

การออกตราสารหนี้สีเขียวในครั้งนี้ จะช่วยให้ทีเอ็มบีธนชาตในฐานะผู้นำด้านสินเชื่อรถยนต์สามารถขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เติบโตต่อเนื่อง และขับเคลื่อนตลาด EV ของไทยที่เพิ่งเริ่มต้นธนาคารเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับ IFC ที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้สีฟ้า รวมถึงความร่วมมือในโครงการต่าง  ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำจุดยืนแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน(Sustainable Banking) ด้วยการผสานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร

นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปี 2565 ทีเอ็มบีธนชาตมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อสีเขียวมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท มุ่งเน้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย อาคารสีเขียว และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง  ปัจจุบันได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 5,275 ล้านบาทในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเคมี นำไปลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน การป้องกันมลพิษและการจัดการของเสีย ธุรกิจสถานพยาบาล นำไปลงทุนอาคารสีเขียว และธุรกิจคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ นำไปลงทุนพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยกระแสตอบรับในเรื่องการเงินสีเขียว หรือ Green Finance มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก ปัจจุบันมีสถาบันการเงินต่างประเทศสนใจให้ธนาคารออกตราสารหนี้สีเขียวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ทีเอ็มบีธนชาตได้ออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งแรกในปี 2561 มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate-smart Project) และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ได้รับรางวัล “ผู้บุกเบิกพันธบัตรสีเขียว” สาขา “ประเทศใหม่ที่นำพันธบัตรสีเขียวออกสู่ตลาดโลก” จาก The 4th Green Bond Pioneer Awards สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารที่ดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และออกตราสารหนี้สีฟ้าเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เพื่อระดมทุนมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 1,700 ล้านบาท สำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ

ความมุ่งมั่นของธนาคารในการผลักดันให้ธุรกิจตระหนักถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมของไทยและโลกของเราถือเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์หลักภายใต้การดำเนินธุรกิจของทีเอ็มบีธนชาตที่ให้ความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน” นายปิติ กล่าวสรุป