ตลท. แจงทางออก “AWS” เหตุระงับการซื้อขายชั่วคราว ยักยอกเงินลูกค้า 157.99 ล้านบาท
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ร่วมแถลงกรณีการระงับการประกอบธุรกิจ บล. เอเชีย เวลท์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งว่าได้สั่งให้ บล. เอเชีย เวลท์ หรือ AWS หยุดการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบว่าบริษัทนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอม
2. จากคำสั่งของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งระงับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จาก AWS เป็นการชั่วคราว ในส่วนของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็จะอนุญาตให้เฉพาะคำสั่งซื้อขายที่เป็นการล้างสถานะที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ จนกว่าสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
3. ในส่วนของหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นกับ AWS ได้ แต่ผู้ลงทุนสามารถขอโอนหุ้นที่ฝากกับ AWS ไปฝากยังบัญชีของตนที่เปิดกับโบรกเกอร์อื่นเพื่อซื้อขายต่อได้ กรณีไม่มีบัญชีที่โบรกเกอร์อื่นสามารถโอนเข้าบัญชี Issuer Account (600) ที่ TSD ได้ และเมื่อเปิดบัญชีที่บริษัทหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้วก็สามารถที่จะโอนหุ้นจากบัญชี 600 ไปซื้อขายต่อไป
4. ในส่วนของอนุพันธ์ ลูกค้าสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อปิดสถานะได้เท่านั้น ไม่สามารถเปิดสถานะได้ หากลูกค้าปิดสถานะแล้ว ลูกค้าก็สามารถที่จะขอถอนหลักประกันออกไปได้ตามปกติ กรณีลูกค้าไม่ประสงค์จะปิดสถานะแต่ต้องการโอนไปซื้อขายต่อที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ตนมีบัญชีอยู่ก็สามารถแจ้งต่อบริษัทหลักทรัพย์ได้เช่นกัน
5. เหตุการณ์นี้ เป็นเหตุเฉพาะรายบริษัทหลักทรัพย์ AWS เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์อื่นยังให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ มีการติดตามฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
ในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนไทย ดร.ภากร กล่าวว่า ด้าน ตลท.และ ก.ล.ต.มีหลายผู้กำกับดูแลหลัก การเกิดปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ มีบางครั้งเกิดจากเหตุการณ์สุดวิสัย ค่อยๆแก้ปัญหาไป เช่น ใครโกง หรือ ปั่นหุ้น และในอนาคตจะป้องกันยังไง พวกเราทุกฝ่ายกำลังแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ”AWS”เป็นสมาชิก บจ. จึงต้องให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในการแก้ปัญหา การสร้างความเชื่อมั่น เราตั้งใจแก้ปัญหา ปรับกระบวนการให้เร็วขึ้น และเราจะมาดูจุดอ่อนจุดรั่ว แล้วสร้างระบบให้ค่อยๆดีขึ้น เหตุการณ์แบบนี้พอเกิดขึ้นเราก็ต้องป้องกันตัวให้ดีขึ้นในอนาคต
“ทุกบริษัทมีกฎเกณฑ์การปฎิบัติ จะแยกเฉพาะบริษัทที่ทำผิดกฎเกณฑ์ก็จะต้องได้รับการลงโทษ ปรกติจะมีการตรวจสอบจากทางการตลอดเวลามีแนวทางการดูแลกรณีนี้เป็นเรื่องของ AWS สำหรับการเปิดเผย NCR สูตรคำนวณมาจาก ก.ล.ต. ค่อนข้างซับซ้อน ในทางปฏิบัติ AWS ยังหาความเสี่ยงไม่เจอ ดังนั้น NCR เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในการตีความสูตรและการคำนวณเปลี่ยนแปลงทุกวัน” นายกสมาคมบล. ไทย กล่าว