EXIM BANK ชูนโยบายโอกาสครบรอบ 26 ปี ยังคงเคียงข้างธุรกิจส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ควบคู่กับขยายบริการทางการเงิน ข้อมูลข่าวสาร และอบรมบ่มเพาะให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยปรับตัวรับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ โดยเยียวยาผลกระทบระยะสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม บรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยไม่หดตัวในปี 2563
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในโอกาส EXIM BANK เปิดดำเนินการครบรอบ 26 ปี ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่17 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งการปรับสมดุลของโลก เพื่อลด “ความเสี่ยง” ในหลายมิติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ประกอบด้วย 1. มิติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลของการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมาอย่างยาวนาน จนทำให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ขณะที่จีนก็ตอบโต้โดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ยังคงส่งผลกดดันบรรยากาศการค้าของโลกและของไทยในปีนี้ ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งเกิดจากสภาพคล่องล้นโลกและนโยบายการเงินกลับทิศทาง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน อยู่ในระดับต่ำเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าหลายชนิดที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 2. มิติการเมืองและสังคม ความขัดแย้งในหลายประเทศล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ กำลังซื้อของประชาชน และเศรษฐกิจโลกโดยรวม 3. มิติสิ่งแวดล้อม ทั้งภัยธรรมชาติและโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก
ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจเป็นระบบเปิด ขนาดเล็ก พึ่งพาตลาดต่างประเทศในสัดส่วนสูง มีอำนาจต่อรองไม่สูงนัก เผชิญกับภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่แฝงด้วยความไม่ยั่งยืนจากปัญหาความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณมากกว่าราคา เนื่องจากสินค้าไทยมีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคในอัตราขยายตัวสูงกว่าการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการลงทุนอยู่มาก กดดันให้เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกไทยจึงมีรายรับในเทอมเงินบาทลดลงและสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งชาติอื่น จากความเสี่ยงของโลกในมิติเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยเผชิญความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศและความยากลำบากในปี 2563
ระยะสั้น EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือทางการเงิน ทั้งสินเชื่อและประกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุน และคุ้มครองความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งโปรแกรมสินเชื่อพิเศษและมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย
ระยะยาว EXIM BANK มีบริการทางการเงินที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยปรับสมดุลโครงสร้างการส่งออกและนำเข้าของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย ตลอดจนสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนใน EEC และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve เพื่อสร้างฐานการผลิตด้านนวัตกรรมของประเทศ ควบคู่กับการให้ข้อมูลข่าวสารและจัดโครงการอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) เพื่อร่วมผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยในปี 2563 พลิกกลับมาโตเป็นบวกได้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
ด้านผลการดำเนินงานปี 2562 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 121,868 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ โดยเพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาทหรือ 12.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อการลงทุน 82,968 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 197,106 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,749 ล้านบาท คิดเป็น 54.16% โดยสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ43,123 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 4.60% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,606 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 7,804 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 143.15% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
สำหรับผลการดำเนินงานด้านประกันการส่งออกและการลงทุนของ EXIM BANK ในปี 2562 มีปริมาณธุรกิจสะสมเท่ากับ 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน22,592 ล้านบาท หรือ 18.61% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 92,367 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 47,454 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศCLMV ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ณ ปี 2562 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้สำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญได้เปิดดำเนินงานและทำงานร่วมกับทีมไทยแลนด์นำโดยเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามต่อไป
“ท่ามกลางความไม่สมดุลและความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ รับมือให้ทันและไม่หยุดรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK อยู่เคียงข้างและคอยสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและไม่สะดุดขณะเดียวกันผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยต้องวางแผนระยะยาวที่จะแข่งขันให้ได้ในเชิงคุณภาพ โดยใช้โอกาสในภาวะเงินบาทแข็งค่านี้ลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-curve และพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในตลาดโลกยุคดิจิทัลนี้” นายพิศิษฐ์กล่าว