“กติกาการลงทุนใหม่” รับมือภาวะเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก • ดีเดย์12 มี.ค.นี้ ถกบริษัทประกันภัยวางกรอบการลงทุนให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ คปภ. ได้ออกประกาศ เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2563 ไปแล้วนั้น
หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงประกาศใช้เกณฑ์การลงทุนฉบับใหม่นี้ ส่งผลให้บริษัทประกันภัยรายใหญ่ เริ่มวางแผนปรับพอร์ทการลงทุน โดยสนใจที่จะขยายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ อาทิ ตราสารทุนของธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาล โรงพยาบาลหรือกิจการที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long-term care) รวมถึงกิจการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย (Startup) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย สามารถเพิ่มผลตอบแทนที่มากขึ้นพร้อมรับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามการนำประกาศการลงทุนฯ ฉบับใหม่ไปใช้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงยังคงเป็นหลักสำคัญในการพิจารณาการลงทุน โดยจัดให้มีการดำเนินกิจกรรมในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ กิจการเงินร่วมลงทุน Private Equity ให้แก่บริษัทประกันภัยและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงแนะนำข้อมูลด้านการบริหารการลงทุนให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในวันที่ 12 มีนาคม2563 สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดจัดประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนโดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน ในการประชุม พร้อมด้วยนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกำกับ เข้าร่วมประชุมกับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งนำโดย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะอนุกรรมการลงทุน ประกอบด้วยผู้แทนบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยทุกบริษัท ณ ห้องประชุมสำนักงาน คปภ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทประกันภัย ตามประกาศการลงทุนฯ ฉบับดังกล่าว อีกทั้งได้เร่งดำเนินการจัดทำประกาศย่อยที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดคุณสมบัติของธุรกิจที่บริษัทสามารถลงทุนได้ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่า กระบวนการลงทุนของบริษัทจะมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลฯ จะบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย อย่างเต็มความสามารถในการยกระดับคุณภาพกระบวนการการลงทุนของบริษัทประกันภัยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและระบบประกันภัยของไทยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจไทย และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลก” เลขาธิการ คปภ. กล่าว