มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลพุทธโสธร ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่8 (ปธพ.8) ร่วมจัดทำ “โครงการหน่วยแพทย์อาสาถวายพระกุศลแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เพื่อถวายการตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์สามเณรและประชาชน ระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2565 ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา นำทีม ปธพ.รุ่น 1-10 รวมทั้ง ทีมแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจัดคลินิกเฉพาะทาง 9 คลินิก เพื่อให้บริการตรวจวินิจฉัย และรักษา ประชาชนกว่า 40,000 คน
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา ศาสตราจารย์เกียรติคุณนพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรีเผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา, นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และพล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และผู้อำนวยการหลักสูตรปธพ.พร้อมแพทย์หญิงเจรียง จันทรกมล ประธานคณะนักศึกษา ปธพ 8 ร่วมเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาถวายพระกุศลแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก จัดโดย มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดฉะเชิงเทราโรงพยาบาลพุทธโสธรและนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 8 ( ปธพ.8)
สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง(ปธพ.) ของแพทยสภา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า มีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” นำหลักธรรมาภิบาล มาเป็นหลักในการสร้างหลักสูตร และจัดกิจกรรมแพทย์อาสา ดังนั้นภารกิจที่สำคัญ คือการให้บริการตรวจรักษาคนไข้ เพื่อย่นย่อระยะเวลาในการรอคอยเข้ารับการรักษาโรคเฉพาะทางของผู้ป่วย ภายใต้หลักการ “นำหมอไปหาคนไข้”
การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ จะมีคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ จำนวน 9 คลินิก ประกอบด้วย คลินิกตรวจเลือด คลินิกเอกซเรย์ คลินิกตรวจสุขภาพทั่วไป คลินิกตรวจความหนาแน่นของกระดูก คลินิกตรวจโรคไขมันสะสมในตับในพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นโรคเบาหวาน คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนจีน(ฝังเข็ม) คลินิกจักษุกรรม และคลินิกฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และประชาชน ตลอดจนการเสนอแนวทางในการเฝ้าระวังการป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นการประสานงานความช่วยเหลือแบบเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดเดียวกันแต่คนละสังกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกับ 4 เสาหลักทางการแพทย์ในหลักสูตร ปธพ. คือ 1. อาจารย์โรงเรียนแพทย์ 2. แพทย์ ในกระทรวงสาธารณสุข
3. แพทย์ทหาร ตำรวจและภาครัฐอื่นและ 4. แพทย์ภาคเอกชน” เพื่อสร้างจิตอาสาให้กับบุคลากรในระบบสาธารณสุขไทย ในการบริการทางด้านสุขภาพกับประชาชน โดยได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนจากจังหวัดฉะเชิงเทรา วัดโสธรวรารามวรวิหาร และผู้สนับสนุนทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะนักศึกษา ปธพ.รุ่นที่ 8 ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และรพ.สต. ของจังหวัดฉะเชิงเทราได้นำรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ออกให้บริการเอกซเรย์ปอดแก่ประชาชนในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้เวลาทั้งหมด 52 วัน มีประชาชนมารับบริการกว่า 37,000 คน และพบรายที่ปอดผิดปกติ ร้อยละ 20 (หรือ7,685 คน) และรายที่ผิดปกติมากจำเป็นต้องพบแพทย์ อีก 1,900 คน หรือร้อยละ 5 และเนื่องจากโรงพยาบาลพุทธโสธร มีผู้ป่วยเป็นจำนวนกว่า 200 ราย ที่รอการตรวจหัวใจด้วย Echocardiogram ทาง ปธพ.8 จึงได้นำคณะแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสุรนารี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และศูนย์หัวใจโรงพยาบาลตำรวจ ไปตรวจและอ่านผลให้คนไข้ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา โดยสามารถตรวจและอ่านผลคนไข้เพื่อรับการรักษาต่อได้เกือบ 150 คน ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของคนไข้ไปได้มาก อีกทั้งมีพระภิกษุ สามเณรเข้าร่วมการตรวจวินิจฉัยโรค และเรียนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน รวมกว่า 500 รูป
ทั้งนี้ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้รับความอนุเคราะห์ เช่น รถ xray ปอด เครื่องตรวจตา เครื่องตรวจตรวจfibroscan เครื่องตรวจหัวใจ ทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ที่นำมาบริการประชาชนตลอด 52 วัน ที่ผ่านมา อีกทั้ง คณะนักศึกษาปธพ.8 และผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมบริจาคเครื่องจี้และตัดด้วยไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ สำหรับทำหัตถการในห้องผ่าตัด มูลค่า 800,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลพุทธโสธร ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลขาดแคลนและจำเป็นต้องใช้ในการรักษาคนไข้อีกด้วย