XPG กางแผนลุยธุรกิจบริหารสินทรัพย์เต็มรูปแบบ



XPG กางแผนลุยธุรกิจบริหารสินทรัพย์เต็มรูปแบบ

เพียงปีแรกปั้นพอร์ตหนี้แตะ 800-1,000 ลบ. ปีหน้าตั้งเป้าโตต่อเนื่อง 2,000-2,500 ลบ.

ล่าสุดส่ง XSpring AMC ปิดดีลประมูลหนี้สถาบันการเงินโกยเข้าพอร์ตเพิ่มอีก 300 ลบ.


บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ลุยธุรกิจแบบ 360 องศา ล่าสุดบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด บริษัทลูก ชนะประมูล NPL เติมพอร์ตกว่า 300 ล้านบาท พร้อมประกาศเดินหน้าประมูลหนี้เพิ่มอีกอย่างน้อย 300 - 500 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ปรับเป้าหมายประมูลหนี้ใหม่ 800 – 1,000 ล้านบาท 

ประกาศเป้าหมายปีหน้า ประมูลหนี้เพิ่มต่อเนื่อง หนุนพอร์ตหนี้รวมแตะ 2,000 – 2,500 ล้านบาท ลุยเก็บ NPL และ NPA ชูจุดแข็งมีบริษัทแม่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่เชี่ยวชาญธุรกิจบริหารการเงินและการลงทุน รวมทั้ง XPG ยังมีผู้ถือหุ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์

ประเมินทิศทางธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกอ่อนแอจากวิกฤตโควิด -19 จนมาถึงวิกฤตเงินเฟ้อ 


คุณวรางคณา อัครสถาพร กรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด หรือ XSpring AMC ซึ่งประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ถือหุ้น 100% โดย

บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG  ได้ทำการประมูลซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เข้ามาบริหารจำนวนกว่า 300 ล้านบาท หลังจากชนะการประมูลหนี้จากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ 2 แห่ง อย่างไรก็ดีภายในปีนี้บริษัทยังมีแผนในการเข้าประมูลหนี้เพิ่มเติม เพื่อมาบริหารอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะประมูลหนี้จากสถาบันการเงินภายในปีนี้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 300 – 500 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทปรับเป้าหมายพอร์ตหนี้รวมปีนี้เป็น 800 – 1,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้าจะทำการประมูลหนี้เข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตหนี้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 2,000 – 2,500 ล้านบาท


สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจของ XSpring AMC จะครอบคลุม ทั้งในส่วนของ NPL และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดยปีนี้ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมีหนี้สำหรับการบริหารในพอร์ตอยู่จำนวนประมาณ 200 ล้านบาท รวมที่ประมูลเพิ่มมาได้อีกกว่า 300 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีหนี้ในพอร์ตมูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านบาท อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าสัญญาณการขายพอร์ตหนี้เสียของสถาบันการเงินในไตรมาส 4 เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากครึ่งปีแรกที่ปริมาณหนี้เสียที่ถูกนำออกมาขายมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากนโยบายผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19 ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่มองว่าหลังจากนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า จำนวน NPL และ NPA จะเริ่มสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น จึงประเมินว่าครึ่งปีหลังพอร์ตหนี้ของ XSpring AMC จะเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ 800 – 1,000 ล้านบาท


“ธุรกิจของ XSpring AMC  จะสนับสนุนให้ XPG มีบริการด้านการเงินครบวงจร เนื่องจาก XSpring AMC มีจุดแข็งในการบริหารสินทรัพย์ ที่ทำงานใกล้ชิดกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารการเงินและการลงทุน อย่างบริษัทแม่ คือ เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล นอกจากนี้ XPG ยังมีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ทราบถึงข้อมูลสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีความได้เปรียบด้านการปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่และมีความทันสมัยก่อนนำออกขายสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก” คุณวรางคณา กล่าว


ทั้งนี้ มองว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะส่งผลให้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์เติบโตได้ดี จากการที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตการระบาดของโควิด -19  จนถึงวิกฤตเงินเฟ้อ จึงทำให้มีหนี้เสียเข้ามาในระบบทั้ง NPL และ NPA เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินจะมีนโยบายผ่อนปรนเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียมากกว่าปกติ แต่ก็มีลูกหนี้หลายรายที่แบกรับภาระหนี้ไม่ไหว จนทำให้ลูกหนี้เข้ามาอยู่ในระบบ NPL ซึ่งในธุรกิจบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพนั้น มีความคล่องตัว สามารถนำมาคัดแยกและบริหารจัดการต่อได้ดีกว่า ช่วยทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมขับเคลื่อนต่อไปได้