BAM ติดอันดับ “หุ้นยั่งยืน” ปี 2565 ตอกย้ำก้าวสำคัญสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน

BAM ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืนหรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2565 ตอกย้ำก้าวสำคัญสู่การเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกทั้งสิ้น 170 บริษัท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชนหรือBAM กล่าวว่า BAM ได้จัดส่งแบบประเมินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน  โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ประจำปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผ่านการคัดเลือก 170 บริษัท ซึ่ง BAM ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 บริษัทหุ้นยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประจำปี 2565  เป็นการตอกย้ำการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงปัจจัยของผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

BAM ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักความยั่งยืนบนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ เคารพกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน BAM ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR In Process) โดยการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) BAM มีโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือธุรกิจกลับคืนไปง่ายขึ้น เช่น โครงการสุขใจ ได้บ้านคืนโครงการ BAM ช่วยลด เพื่อปลดหนี้โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ รวมทั้งยังมีโครงการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ซื้อทรัพย์สินรอการขาย (NPA) BAM มีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ เช่น โครงการขายทรัพย์สินแบบผ่อนชำระกับ BAM เงื่อนไขพิเศษโครงการคอนโดราคามหาชน ผ่อนเริ่มต้นเพียง 500-2,500 บาทต่อเดือนเท่านั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน ด้วยการมีนโยบายดูแลพนักงานด้วยการให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และวางแผนการอบรมเสริมสร้างทักษะความรู้พัฒนาความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจอย่างมีระบบ พร้อมทั้งชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงการวางแนวทางอนุรักษ์พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานการเตรียมซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งถือเป็นการช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว รวมทั้งมุ่งพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพและคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างโดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุการเติบโตด้านผลกำไรในระยะยาว


นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ความยั่งยืนได้ถูกผนวกเข้ากับกลยุทธ์หลักขององค์กรในการวางรากฐานที่มั่นคงและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความผันผวน ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวทางนโยบาย “พลิกฟื้นสินทรัพย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”  และมุ่งมั่นในการเป็นแก้มลิงของประเทศในด้าน AMC ที่ช่วยดูดซับ NPL และ NPA ในระบบสถาบันการเงินให้สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน