สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ยืนหยัดดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม หนุนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทั่วไป เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน และมาตรการเฉพาะ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างตรงจุด โดยในเดือนกรกฎาคม 2563 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท หลังสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2565 ลูกค้าภายใต้มาตรการลดลงเหลือ 1.6 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท มีการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SME ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) จำนวน 3.2 แสนล้านบาท ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบไม่สูงขึ้นมาก และคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ในรูปแบบ The New K-shaped Economy และมีปัจจัยความท้าทายรอบด้าน จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบกับค่าครองชีพและต้นทุนของภาคธุรกิจ อาจทำให้ลูกค้าบางกลุ่มกลับเข้ามาใช้มาตรการอีกครั้ง

สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบของลูกค้าประชาชน พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้แนวทางการปรับนโยบายการเงินของไทยเข้าสู่ภาวะปกติในรูปแบบ Smooth Takeoff โดยนโยบายดอกเบี้ยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้ารายย่อยและ SME โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการดูแลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชะลอผลกระทบกับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับตัวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ประคับประคองให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ค่อยๆกลับมา สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้สามารถมีรายได้สมดุลกับรายจ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความเหมาะสมทั้งฝั่งของลูกค้าเงินฝากและเงินกู้ จังหวะ และขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไม่ให้เกิดการสะดุดของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และ ภาคประชาชน

ทั้งนี้ ลูกค้ารายใหญ่ มีความยืดหยุ่น สามารถสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงได้ก่อน ส่วนลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทั้งสินเชื่อ เช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้จะใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่ค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนคงที่ จึงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้หนี้ระยะยาวผ่าน มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างตรงจุดให้กับผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย มีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปี 2566 คาดว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจน มาตรการเพิ่มสภาพคล่องผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ดำเนินการจนถึงเดือนเมษายน 2566 ซึ่งแต่ละธนาคารได้ จัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่ม ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของ แต่ละราย เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด

สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก จะติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหน้าผาเอ็นพีแอล (NPLs Cliff) ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะแม้สถานการณ์ลูกค้าโดยรวมดีขึ้น จากช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง แต่มีกลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ต้องได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการจำนวนมาก โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่ง แต่เมื่อเทียบกับธนาคารในภูมิภาค ธนาคารพาณิชย์ไทยยังเผชิญความท้าทายในด้านการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับต่ำกว่า และฟื้นตัวช้ากว่าในภูมิภาค ดังนั้น การรักษาระดับความแข็งแกร่ง และสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ระบบธนาคารสามารถดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับตัว ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือน ได้ พร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าและเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ภาคธนาคารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ การที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยภาคการท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐจะเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังยกเลิกมาตรการ Thailand Pass การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อีกทั้ง ยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้