สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเงินเฟ้อไทยยังผันผวนต่อไตรมาส 3 มองGDPปี 65 โตร้อยละ3.3

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยนำจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคของเอกชน และการส่งออก ขณะเดียวกัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทยได้เผยมุมมองต่อเรื่องของค่าเงินบาทไทยจะยังคงอ่อนตัวในช่วงไตรมาส 3 นี้ เนื่องจากดุลการค้ากำลังขาดดุล เพราะการนำเข้าน้ำมันนั้นไม่ค่อยดี อีกทั้งแรงกดดันจากนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการทำให้เงินดอลลาร์ยิ่งแข็งค่าขึ้น

ดร.ทิม มองว่าในปัจจุบันตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ จึงมองว่าประเทศไทยควรมีนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 1 ล้าน ถึง 1.5 ล้าน เพื่อที่จะทำให้ค่าเงินบาทนั้นแข็งค่าขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายทศวรรษ โดยมีสาเหตุหลักจากมูลค่าของน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงอาหารและไฟฟ้ายิ่งเป็นตัวเร่งในการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณในการกลับตัวลงแต่อย่างใด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงพุ่งขึ้นสูงอีกในไตรมาสที่ 3 และอัตราเงินเฟ้อโดยรวมแบบรายปีจะอยู่ที่ 6% โดยคาดว่ากนงจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้ โดยขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ก่อนสิ้นปีนี้ จากร้อยละ0.50 ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้การประชุมนัดพิเศษนอกจากการประชุมรอบปกติ ก็อาจเป็นไปได้ (ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นแต่อาจจะมีการพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีถัดไป ซึ่งต้องติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจ

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทยกล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการเติบโตเศรษฐกิจไทย ปี2565 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 3.3 และ4.5 ในปีหน้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด  ปัจจุบัน โดยเฉพาะ การบริโภคของเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยวแม้ว่า เงินเฟ้อในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับร้อยละ 1-3 จึงเป็นคำถามว่า ธปทจะปรับกรอบเงินเฟ้อต่อปีในช่วงต้นปีหน้าไหม นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว เราเชื่อว่านักลงทุนน่าจะสนใจว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะเริ่มลดลงบ้างไหมจากที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของจีดีพีในขณะนี้ เทียบกับร้อยละ 40 ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19