KBank Private Banking ชี้ 3 ความท้าทายต่อทรัพย์สินครอบครัวในยุควิกฤตซ้อนวิกฤต

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้งเผยความเสี่ยงจากวิกฤตโรคระบาด และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ในตลาดเงินตลาดทุนเท่านั้น แต่ยังสร้างความท้าทายใหม่  ในการรักษา สร้างการเติบโต และส่งต่อทรัพย์สินครอบครัว พร้อมแนะแนวทางบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว วางกติกาและโครงสร้างธุรกิจ รวมทั้งวางแผนการส่งต่ออย่างมีระบบเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดมาไม่นานและยังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัวยากขึ้นเป็นทวีคูณ บางครอบครัวได้สูญเสียสมาชิกที่เป็นเสาหลักในการบริหารกิจการครอบครัว ธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายได้ของครอบครัวลดลงและอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เช่นภาษีที่ดิน  เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของครอบครัวในระยะยาวได้

KBank Private Banking ในฐานะผู้นำให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ในประเทศไทย ได้แนะนำ 3 แนวทางในการเตรียมพร้อมด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว เพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้

1. วิเคราะห์และจัดลำดับความเสี่ยงที่ครอบครัวกำลังเผชิญสิ่งแรกที่ทุกครอบครัวควรทำอย่างเร่งด่วน คือการวิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและยาวที่ครอบครัวกำลังเผชิญ โดยจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น และเริ่มแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เช่น ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้รายได้ของหลายครอบครัวลดลง ในขณะที่รายจ่ายเช่น ภาษีที่ดิน ปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นก็ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ เพราะหากอัตราความเติบโตของทรัพย์สินน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อก็เท่ากับว่าทรัพย์สินของครอบครัวที่มีอยู่เดิมจะมีมูลค่าลดลง ดังนั้นครอบครัวจึงควรมองหาทางเลือกในการลงทุนที่ตอบโจทย์ และสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น มองหาโอกาสในการลงทุนจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครอง เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและภาระภาษีเป็นต้น

สำหรับปัญหาในระยะยาว หลายครอบครัวอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ (Business Disruption) จึงจำเป็นต้องวางแผนในระยะยาว เพื่อขยายธุรกิจออกไปและปรับโครงสร้างภายในธุรกิจครอบครัวให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  ดังนั้น ขั้นตอนในการวิเคราะห์และจัดลำดับความเสี่ยงจึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการบริหารทรัพย์สินครอบครัวในยุคปัจจุบัน

2. วางโครงสร้างธุรกิจครอบครัว พร้อมก้าวผ่านทุกความไม่แน่นอน แม้สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลงตามลำดับ แต่ธุรกิจครอบครัวซึ่งคิดเป็นถึงประมาณร้อยละ 80 ของธุรกิจในประเทศไทย ยังคงเผชิญกับผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตดังกล่าว หลายครอบครัวจึงตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงต่าง  การฟื้นตัวของธุรกิจบางประเภทที่ใช้เวลา ธุรกิจที่ถูกดิสรัปทำให้ต้องเลิกกิจการไป จึงจำเป็นต้องมองหาธุรกิจใหม่  ซึ่งเป็นความท้าทายที่ไม่ง่ายเลย

ในอีกด้านหนึ่ง หลายครอบครัวต้องสูญเสียสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถหาผู้มีอำนาจคนใหม่มาตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ครอบครัวควรเริ่มวางกติกาของครอบครัว เพื่อให้สมาชิกเข้าใจบทบาท สิทธิ และหน้าที่ของตนเอง รวมถึงทิศทางและเป้าหมายของครอบครัวร่วมกันจากนั้น จึงวางแผนโครงสร้างการถือครองสินทรัพย์และธุรกิจ (Asset Holding Structures) ให้เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ อีกทั้งยังสามารถวางแผนส่งผ่านกิจการและทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer) เพื่อให้ทายาทรุ่นต่อไปได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัว นอกจากนี้การกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกครอบครัวที่จะมารับช่วงต่อก็มีความสำคัญเช่นเดียว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ครอบครัวสามารถรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นจะไปอย่างราบรื่น

3. บริหารต้นทุนการถือครองที่ดิน ก้าวทันเทรนด์อสังหาฯ

ที่ดินถือเป็นอีกหนึ่งทรัพย์สินสำคัญของหลายครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมาพร้อมกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านภาษี โดยจะเพิ่มขึ้นตามอัตราราคาประเมินที่ดิน นอกจากนี้ เทรนด์การพัฒนาที่ดินที่เปลี่ยนไป เช่น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือความต้องการอาคารสำนักงาน หรือห้างร้านต่าง  ที่ลดลง ยังทำให้การพัฒนาหรือการใช้ที่ดิน (Land Utilization) มีความท้าทายยิ่งขึ้น ครอบครัวที่มีทรัพย์สินเป็นที่ดิน หรือต้องการลงทุนในที่ดิน จึงจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม   โดยอาจเริ่มจากการพิจารณาว่าที่ดินแต่ละแปลงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในแต่ละปีมีมูลค่าเท่าใด คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับมากน้อยเพียงใด และราคาประเมินที่ดินในอนาคตจะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้หรือไม่ เป็นต้น

นายพีระพัฒน์ กล่าวตอนท้ายว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญไม่แพ้การวางกลยุทธ์ด้านการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและคาดเดายาก ดังนั้น หากเริ่มต้นวางแผนทรัพย์สินครอบครัวอย่างมีแบบแผนชัดเจนเร็วเท่าไร ความมั่งคั่งของครอบครัว ก็จะมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้ในระยะยาวด้วย