PEA-GPSC MOU จัดหาธุรกิจพลังงาน

PEA-GPSC ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแสวงหาโอกาสร่วมกันในการเป็นผู้จัดหาพลังงานและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การแสวงหาโอกาสร่วมกันในการเป็นผู้จัดหาพลังงานและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง” ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ชั้น 23 อาคาร LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่

PEA ร่วมมือกับ GPSC ดำเนินการเป็นผู้จัดหาพลังงานทั้งจากพลังงานฟอสซิล (Fossil) และจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในโครงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบโครงการของ PEA เพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจริง โดยมีขอบเขตความร่วมมือเพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการดำเนินการเป็นผู้ขายพลังงานไฟฟ้าให้กับ PEA รวมถึงศึกษาการลงทุนร่วมกันระหว่าง PEA กับ GPSC และบริษัทในเครือเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจการให้บริการอื่นๆ เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน Renewable Energy Certificates (RECs) Energy Attributed Certificates (EACs) หรือ Carbon Credits รวมถึงรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับการเป็นผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม


นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการสายงานยุทธศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า PEA ในฐานะผู้นำด้านการจัดหาและให้บริการพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลไกหลักสำหรับการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น PEA จึงตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนตลอดจนสิ่งแวดล้อม ในฐานะองค์กรที่กำกับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานจึงพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม 

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง GPSC  กับ PEA  ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญซึ่งทั้ง 2 องค์กรจะแสวงหาแนวทางการผลิตไฟฟ้าในฐานะการเป็นผู้จัดหาพลังงานในโครงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายของ PEA  เพื่อสนับสนุนและสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้เกิดขึ้น เนื่องจากในอนาคต ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงภาคธุรกิจที่กำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาด ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ของโลกและนโยบายของรัฐบาลไทยที่กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

ทั้งนี้ GPSC ในฐานะ Flagship ของกลุ่ม ปตท. มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงของการผลิต และการส่งมอบพลังงานของประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับยังมีโครงการที่จะขยายความร่วมมือกับ PEA ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น