IRPC เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรรับกระแสเทรนด์รักษ์โลก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม Smart Material & Smart Energy ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษที่มีมูลค่าสูง พร้อมรุกตลาดส่วนประกอบอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทรนด์พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจ และเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) จึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ภายใต้แผนการลงทุน EEC เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บพลังงานสำรอง ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว ของ IRPC ที่พร้อมคิดค้น วิจัย พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
IRPC ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงาน เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบในอนาคต การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นก้าวที่สำคัญของ IRPC ที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยศักยภาพ ความพร้อม และความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี - โครงการAcetylene Black for Li-ion Battery วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ (Li-ion battery) สำหรับรองรับเทรนด์ EV โดยเพิ่มคุณสมบัติให้มีความพิเศษมากขึ้นในเรื่องความบริสุทธิ์และการนำไฟฟ้าสูง ช่วยลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า กำลังการผลิต 1.2 KTA รวมถึงอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรอง (Energy Storage) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ต้นปี 2570
- โครงการขยายกำลังการผลิต ABS โดยใช้ Agglomeration Technology กำลังการผลิต 9.8 KTA เน้นตลาดกลุ่ม EV, charging station, drone, รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ IRPC ในส่วนของการผลิต ABS Powder จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปี 2568
IRPC วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 24% ในปี 2565 เป็น 52% ในปี 2568 และอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-ion Anode รวมถึงได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีนคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ IRPC ยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี หรือ IRPCT ร่วมกับบริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS พัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน EV เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทด้าน EV ของ กลุ่ม ปตท. ที่เปิดให้บริการเชิง พาณิชย์แล้วในปัจจุบัน เช่น on-ion EV Charging Station หรือ Swap & Go สถานีบริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์แบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมถึงโรงงานผลิต EV ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS และ Foxconn