คปภ.-สภาอุตสาหกรรม-บริษัทประกันภัย ร่วมประสานเสียง ให้ธุรกิจประกันภัยเร่งปรับเปลี่ยนโหมดธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างยั่งยืน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการคปภ.) เป็นประธานเปิดงานและร่วมเสวนาในหัวข้อ “รู้ทัน ก้าวทัน ประกันภัย ยุค Next Normal” โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาฯ และมี ดร.อริสรากำธรเจริญ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ณ อาคาร เพิร์ล แบงก์ค็อก ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
ดร.สุทธิพล กล่าวเปิดงานและร่วมการเสวนามีความสำคัญตอนหนึ่งว่า การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ ใช้ในยุคNext Normal ถือเป็นวิถีใหม่ต่อจากยุค New Normal ที่เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีการปรับตัว ทั้งในเชิงรุกและรับ สำนักงาน คปภ. ก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกันโดยมีการปรับตัวดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการกำกับและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย และภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชน โดยประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือNext Normal ซึ่ง คปภ. ในดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลารอยต่อสู่ Next Normal ประเด็นเรื่องประกันภัยกลายเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น มีการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประกันภัยและบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประกันภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อสร้างและรักษาความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและบทบาทของสำนักงาน คปภ. ซึ่งการจะเข้าสู่ Next Normal ได้นั้นทุกองค์กรจะต้องเร่งปรับตัวโดยเร็ว
ในส่วนของธุรกิจประกันภัยหากเอาวิกฤตมาเป็นโอกาสก็สามารถอยู่ได้ แต่ถ้าไม่ปรับตัวก็อาจถูก Disrupted ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางธุรกิจหรือบางบริษัทต้องหายไปจากวงจรธุรกิจ เนื่องจากไม่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อเข้าสู่ยุค Next Normal ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด ดังนั้นภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับของภาครัฐ ต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีดำเนินการธุรกิจใหม่ ที่จะต้องไม่ทำแบบเดิม ๆ อีกต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในยุค Next Normal นั้น มีความท้าทาย 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก ความท้าทายในด้านการกำกับและตรวจสอบดูแลธุรกิจประกันภัย เนื่องจากการก้าวเข้าสู่ Next Normal อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อุบัติใหม่และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่นDigital Disruption และ COVID-19 Disruption ดังนั้น การพัฒนากฎเกณฑ์ด้านกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพแต่มีความยืดหยุ่น จึงมีความจำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนากฎหมายให้้มีีลักษณะเป็นหลักการ (Principle-Based) มากกว่าการเป็นกฎเกณฑ์บังคับ (Rule-Based) หรือการมุ่งเน้นให้ธุรกิจประกันภัยมีการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (Enterprise Risk Management: ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk and Solvency Assessment: ORSA) เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ
ประเด็นที่สอง ความท้าทายในด้านการส่งเสริม ทั้งในด้านการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัยหรือ Insurance Bureau System ซึ่งสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและพฤติกรรมการเอาประกันภัยได้ ดังนั้นแนวโน้มการประกันภัยในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตจะเน้นประเภทที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมการประกันสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการเกษียณ เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนหรือ Unit Linked ที่ให้ความคุ้มครองหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น
ประเด็นที่สาม การอำนวยความสะดวกด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในยุค Next Normal ยังคงทำให้สำนักงาน คปภ. ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการให้บริการประชาชน ทั้งการรับข้อร้องเรียน การตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆได้ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัย สอดรับกับความเป็น Next Normal ในด้านการใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัส(Touchless) สำนักงาน คปภ. มีไลน์ คปภ. รอบรู้หรือ OIC Connect ซึ่งมีรูปแบบและฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัย ข้อมูลรายชื่อนายหน้าและตัวแทนประกันภัย หรือการขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย รวมถึงการพัฒนา Web Application สำหรับงานอื่น ๆ ที่ต้องติดต่อสื่อสาร กับประชาชน หรือในการติดต่อสื่อสารระดับจังหวัดทุกแห่งก็มีไลน์ของสำนักงานคปภ. จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้มุมมองการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในยุค Next Normal ว่ามุมมองของภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นที่สอดคล้องกับภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล โดยเห็นว่าความเสี่ยง ความท้าทาย และโอกาสอยู่ในจุดเดียวกันภายใต้ Next Normal และมีประเด็นเพิ่มเติมที่สำคัญ คือ Next Normal เกิดจากการเข้ามามีบทบาทของระบบดิจิทัล (Digital Disruption) ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรม ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อการหยุดชะงัก(Disruption) ดังที่เกิดขึ้นในธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจฟิล์มถ่ายภาพ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจโทรทัศน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม Next Normal มีความจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่ต้องใช้ AI และ Big Data เพื่อออกแบบกรมธรรม์ที่ตรงตามความต้องการ และกรมธรรม์ประกันภัยสามารถครอบคลุมความเสี่ยงประเภทใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงรูปแบบการประกันภัยที่คุ้มครองการดำเนินธุรกิจภายใต้ความเสี่ยงด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม ยุติธรรมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนธุรกิจประกันภัยก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดและอยู่รอดในสถานการณ์ Next Normal ได้
ส่วนกรณีที่มีการสั่งปิดบริษัทประกันภัยหลายบริษัทนั้น โดยส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจประกันภัย เพราะถ้าบริษัทประกันภัยไม่สามารถบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของตัวเองได้ ก็ไม่ควรประกอบธุรกิจเพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน และถ้าถามว่าการปิดบริษัทประกันภัยจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือไม่มองว่าส่งผลกระทบในระยะสั้นและเป็นเฉพาะกับบริษัทที่มีปัญหาเท่านั้น ส่วนบริษัทที่ยังจ่ายเคลมตามปกติจะยังคงได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัยจำกัด (มหาชน) กล่าว ในยุค Next Normal การพัฒนาการประกันภัยต้องตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล(Personalisation) โดยระบบดิจิทัลสามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อประเมินพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงความสามารถทางด้านการเงิน จนนำมาสู่แบบจำลองเพื่อประเมินความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายตัวอย่างที่สำคัญ เช่น การประกันสุขภาพที่ครอบคลุมกรมธรรม์สุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพจิต (Mental Health) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม New Emerging Circumstance เช่น ความเสี่ยงและอาชญากรรมด้านไซเบอร์ การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักทางธุรกิจโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดกับบริษัทอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน Contingency Business Interruption เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลายและตลอดเวลา ดังนั้น อุตสาหกรรมประกันภัยในฐานะที่มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นความเสี่ยงดีที่สุด จะต้องแนะนำภาคประชาชนและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้สามารถเข้าถึงรูปแบบการประกันภัยที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นธรรม รวมถึงสามารถให้คำแนะนำในการป้องกันความเสี่ยง (Risk Prevention and Loss Control) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวในตอนท้ายการเสวนาฯ ว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้เห็นตรงกันว่าโอกาสของธุรกิจประกันภัยยังมีอีกมาก แต่ต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในสถานการณ์ Next Normal ให้ได้ โดยสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยต้องทำงานเชิงรุก เพื่อรับกับความท้าทายภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้ระบบประกันภัย มีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายร่วมกันเร่งปรับเปลี่ยนเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัยให้กลับคืนมา