รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบาย EXIM BANK ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนช่วยธุรกิจไทยก้าวผ่านวิกฤต พร้อมสร้างผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นำโดย ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยกรรมการและผู้บริหารธนาคาร ในโอกาสเดินทางเยี่ยมชมกิจการลูกค้า EXIM BANK ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เสริมสร้างระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ณ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า EXIM BANK ดำเนินภารกิจได้ดีอยู่แล้ว และควรต้องขยายบทบาทมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นส่งออกและขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม ควบคู่กับการดำเนินภารกิจช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหา เพื่อเสริมกำลังกับภาครัฐในการประคับประคองภาคธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่งและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและประชาคมโลกโดยรวม ขณะเดียวกัน EXIM BANK สามารถเสริมการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเวทีการประชุมหรือเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีภารกิจด้านต่างประเทศโดยตรงโดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสอดคล้องกับทิศทางของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยจะทำหน้าที่เสมือนการ “กลืนยาพิษ” เพื่อรับความเสี่ยงที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ จึงพร้อมเข้าไปสนับสนุนกิจการที่มีความเสี่ยงในระยะต้น ก่อนจะส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป “กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่” โดยเข้าไปสนับสนุนโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมสู่อนาคต และ “หนุนทุนไทยไปต่างแดน” ทั้งด้านการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ EXIM BANK จะทำหน้าที่ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมและดำเนินงานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการให้ความรู้คู่เงินทุนแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนและสร้างผู้ส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำ โดย EXIM BANK ได้จับมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและส่งออกได้ อันเป็นที่มาของรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2563-2564 ที่ได้รับร่วมกันจากความสำเร็จในการผลักดันผู้ส่งออก SMEs ภาคเกษตรเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย มูลค่าส่งออกกว่า 1,040 ล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
• “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหา อาทิ สายการบิน พาณิชยนาวี เพื่อให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์กลับ มาสร้างระบบนิเวศที่กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
• “สร้าง” อุตสาหกรรมใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ EXIM BANK มีสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศ (Development Portfolio) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของสินเชื่อรวม แบ่งเป็น
-เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทนไปแล้วเกือบ 200 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน3 ของสินเชื่อรวม มูลค่าลงทุนรวมกว่า 3.7 แสนล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593
-อุตสาหกรรมสู่อนาคต รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ(Green, Digital, Health : GDH) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบโครงข่าย อุปกรณ์ทันตกรรมทดแทน และอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช
-โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
• “เสริม” อาวุธ SMEs สร้างนักรบทางเศรษฐกิจสู่เวทีโลก โดยให้คำปรึกษาแนะนำ บ่มเพาะ สินเชื่อ และบริการอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) ผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและ Indirect Exporters สามารถผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้ โดยการส่งเสริมให้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออก หรือแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ อาทิ EXIM Thailand Pavilion บน Alibaba.com ทั้งนี้ EXIM BANK มีSMEs Export Studio ดูแลตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเขียนเรื่องราวธุรกิจ การทำตลาดให้แก่ SMEs ที่พร้อมเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
• “สานพลัง” EXIM BANK ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจไทยและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจไทย ทั้งในกรอบของการดำเนินธุรกิจ กิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ทีมประเทศไทยเดียวกัน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการ EXIM BANK นำโดย ดร.พสุ โลหารชุนประธานกรรมการ และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้เยี่ยมชมกิจการลูกค้า EXIM BANK ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เสริมสร้าง BCG Economy 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด (AMITA) ในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร กำลังการผลิตขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อนำไปใช้เพิ่มเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ โดยลดมลพิษและภาวะโลกร้อน รวมทั้งป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศในการพัฒนา EEC โดยมีนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA และกรรมการ AMITA และนายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย R&D AMITA ให้การต้อนรับ ณ นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ อ.บางปะกงจ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565
บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นสติกเกอร์กันยุงรายแรกของไทย ยี่ห้อ “Bug Guard” โดยผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติ 100% และต่อยอดมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสติกเกอร์หัวหอมบรรเทาหวัด คัดจมูกรายแรกของโลกที่ใช้สารจากธรรมชาติ 100% ยี่ห้อ “Happy Noz” ปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้เป็นภูมิแพ้ และผู้สูงอายุ มียอดขายอันดับ 1 ในไทยและส่งออกในสัดส่วน 10% ไปยัง 18 ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะตะวันออกกลางโดยมีนางสาววันทณีย์ เสนาคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด ให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการบริษัทอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565
บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (TEGH) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป ยางพาราและปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในภาคตะวันออก และผู้ผลิตพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ โดยมีการดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงนิเวศแบบครบวงจร มุ่งเน้นระบบ Bio-Circular-Green Economy และ Zero Waste Zero Discharge สามารถนำกากของเสียจากโรงงานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คณะได้เข้าเยี่ยมชมกิจการบริษัท อี.คิว.รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยางแท่ง ซึ่งEXIM BANK มีความร่วมมือกับบริษัทในการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางที่ป้อนวัตถุดิบให้โรงงานใช้วิธีการเพาะปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมถูกต้องตามหลักสากล FSC (Forest Stewardship Council) และโอกาสนี้ได้ร่วมทำกิจกรรม CSR ปลูกต้นยางนา ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถช่วยต่อยอดรายได้ของชุมชนท้องถิ่น โดยมีนายสมชาย โกกนุทาภรณ์ ประธานผู้ก่อตั้ง TEGH นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ กรรมการ TEGH และนางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ TEGH ให้การต้อนรับ ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565
“EXIM BANK พร้อมซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง พัฒนาประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจในธนาคารของรัฐแห่งนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายเป็นที่หนึ่งทัดเทียมธนาคารเพื่อการพัฒนาชั้นนำระดับโลก ที่พึ่งภาครัฐ และที่รักประชาชนให้ได้โดยแท้จริง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยเราจะเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย ทำให้ความหวังประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียเมื่อราว 30 ปีก่อนกลับคืนมาทำให้ไทยกลายเป็นประเทศดาวรุ่งเนื้อหอม เป็นประเทศที่มีรายได้สูงให้ได้ ด้วยสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างโลกสีเขียว และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ BCG” ดร.รักษ์ กล่าว