ธนาคารออมสิน เติมสภาพคล่องผู้ประกอบการ SMEs จัด “สินเชื่อ GSB SMEs Extra Liquidity” วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละ 50 ล้านบาท ลงทะเบียนได้ทันทีวันนี้! ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารออมสินได้นำเสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนและกระตุ้นให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงได้เปิดให้บริการ สินเชื่อ GSB SMEs Extra Liquidity เป็นสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน วงเงินโครงการรวม 50,000 ล้านบาท สามารถติดต่อยื่นกู้ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารฯ พร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สินเชื่อ GSB SMEs Extra Liquidity เป็นสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน โดยปัจจุบันมีสินเชื่อ SMEs ทั้งระบบ 4.20 ล้านล้านบาท คิดเป็นเงินกู้ระยะยาว 50% หากต้องผ่อนชำระ 5 ปี เงินต้นเฉลี่ยผ่อนคืนธนาคารทั้งระบบอยู่ที่ประมาณปีละ 400,000 ล้านบาท ดังนั้นธนาคารออมสินต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ต้องชำระเงินต้นให้กับสถาบันการเงินต่างๆ โดยธนาคารออมสินพร้อมจ่ายเงินต้นแทน SMEs ทั้งประเทศ ตัวอย่างเช่น มีวงเงินกู้ 50 ล้านบาท ชำระเงินต้น 10 ล้านบาท ธนาคารให้วงเงินกู้ 10 ล้านบาท โดย SMEs จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นไปก่อน และนำใบเสร็จมาเบิกกับธนาคารออมสินทุกเดือนเป็นเวลา 12 เดือน ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 6 ปี ปลอดเงินต้น 1 ปี เท่ากับมีระยะเวลาผ่อนเงินต้น 5 ปี เป็นการแบ่งเบาภาระ SMEs ได้สูงสุดถึง 6 ปี ซึ่งจะทำให้ SMEs มีสภาพคล่องดีขึ้น มีเงินลงทุนต่อได้ โดยมีเงื่อนไขคือเป็นลูกค้าผ่อนชำระหนี้ปกติมาไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ รัฐบาลสนับสนุนให้ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อนี้ได้ 100% อัตราดอกเบี้ยเท่ากับสถาบันการเงินเดิม ต่ำสุดไม่เกิน MLR-1% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.375% ต่อปี) วงเงินรวมสินเชื่อโครงการนี้ทั้งหมด 50,000 ล้านบาท
“สินเชื่อประเภทนี้ ธนาคารออมสินไม่ได้มุ่งให้มีการรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินเดิม เพียงแค่ต้องการเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล” ดร.ชาติชาย กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีวงเงินเดิมที่สนับสนุน SMEs โดยร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการลงทุน ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและประหยัดพลังงานในโครงการสินเชื่อ Softloan : Transformation Loan เสริมแกร่ง (Softloan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) วงเงินรวมโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในวงเงินสูงสุดรายละ 50 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลากู้ 7 ปี ซึ่งโครงการนี้ได้ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการได้มีเงินลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนไปแล้วมากกว่าพันราย ในวงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้มีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ ผ่านโครงการสินเชื่อ Softloan ปี 2559 และปี 2560 ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีเม็ดเงินรวมในโครงการ 180,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 4% เป็นระยะเวลา 7 ปี ทุกโครงการสามารถปิดโครงการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ และผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินยังได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ทุกขนาดผ่าน โครงการสินเชื่อประชารัฐสร้างไทย ประกอบด้วย สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs ยั่งยืน, สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs คล่องตัว และ สินเชื่อ GSB บัญชีเดียว วงเงินโครงการรวม 50,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการใช้บัญชีเล่มเดียว อัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1-2 เท่ากับ 4% ปีที่ 3-4 เท่ากับ 6% และปีต่อไปเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MOR/MLR บวกสูงสุดไม่เกิน 1% (อัตราดอกเบี้ย MOR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.745% ต่อปี) ทั้งนี้ สามารถเลือกใช้ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันได้ บสย.ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีละ 1.75% เป็นเวลา 2 ปี และธนาคารออมสินช่วยแบ่งเบาภาระค่าธรรมเนียมให้อีก 2 ปี รวมยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ปี เท่ากับ 7% ธนาคารออมสิน เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการเร่งให้ฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจในอุตสาหกรรม SMEs เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วในทิศทางเดียวกัน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายได้