ราช กรุ๊ป ประกาศ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว พร้อมรับรู้รายได้ในไตรมาส 1 ปีนี้
นนทบุรี - บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศวันนี้ว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียวในอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้งรวม 296.23 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PT PLN (Persero)) ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียวแห่งนี้ ดำเนินงานโดยบริษัทร่วมทุน PT Medco Ratch Power Riau (MRPR) โดยราช กรุ๊ป ถือหุ้นร้อยละ 49 และ PT Medco Power Indonesia (MPI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของอินโดนีเซีย ถือหุ้นร้อยละ 51 และจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปีละ 1,445 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปี 2585 ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้ในรูปของส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุน MRPR ทันทีในไตรมาส 1 ปี 2565
โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ตั้งอยู่ที่จังหวัดเรียว ในตอนกลางของเกาะสุมาตรา ได้พัฒนาขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศอินโดนีเซียและนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในเขตพื้นที่จังหวัดเรียว โดยต้องการกระจายเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าให้มีความหลากหลาย เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจัดเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดเพราะมีการเผาไหม้สมบูรณ์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,445 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งในเขตพื้นที่จังหวัดเรียวและเกาะสุมาตราเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 4 ช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีและขอขอบคุณ MPI หุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ และทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันผลักดันให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียวเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โครงการนี้ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 7,324.34 เมกะวัตต์ และบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากโครงการนี้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ มากขึ้น
“บริษัทฯ ยังคงยืนยันถึงความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมสนับสนุนอินโดนีเซียในการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวอินโดนีเซียในระยะยาวต่อไป” นางสาวชูศรี กล่าว
สำหรับ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ได้ดำเนินการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายและความเชื่อถือได้ พร้อมทั้งติดตั้งระบบการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานสากล