วิจัยกรุงศรีเผยรัฐออกมาตรการด้านการคลังและการเงิน พยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาNPLs

วิจัยกรุงศรี เผยรัฐบาลอนุมัติวงเงินกู้กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินรวม 53,222 ล้านบาท จากการใช้เงินตามพ...เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ 1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 วงเงิน 34,800 ล้านบาท(ให้ g-wallet รายละ 1,200 บาท ใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน) 2)โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ วงเงิน 8,070 และ 1,352 ล้านบาท ตามลำดับ(เพิ่ม g-wallet ให้รายละ 200 บาท/เดือน  เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน)  และ 3) โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 วงเงิน 9,000 ล้านบาท (มีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม)

 

 

วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว แม้พัฒนาการดังกล่าวอาจล่าช้าออกไปเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ผลกระทบอาจอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ จึงคาดว่าการใช้มาตรการควบคุมจะเข้มงวดน้อยกว่าการระบาดที่เกิดจากไวรัสเดลตาในรอบก่อน โดยในกรณีฐาน คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะจุดสูงสุดในกลางเดือนกุมภาพันธ์ก่อนจะลดลงอย่างช้าๆ  ภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากสุดจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และผลต่อภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงราว 0.6% อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท กอปรกับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนสนับสนุนให้ทางการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มเติม การนำมาตรการ Test&Go กลับมาใช้สำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคส่งออก ผลกระทบสุทธิจากการระบาดรอบนี้จะทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ยังคงใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิม

 

 

ธปท.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากโควิด 19 เพื่อช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ NPLs ในระยะข้างหน้า  ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (JVAMC) โดยให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) กำหนดระยะเวลายื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุนได้ภายในปี 2567  (มีผลตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2567) มีระยะเวลา 15 ปีในการดำเนินกิจการร่วมทุนนี้ สำหรับกลไกดำเนินการกำหนดให้รับซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ในประเทศ ซึ่งจะต้องเน้นให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องแก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมา


แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ทางการเล็งเห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ระบบสถาบันการเงินให้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุน เพื่อรองรับ NPLs ที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในอนาคต  แม้ข้อมูลล่าสุด ไตรมาส 3/2564 สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ที่ระดับ 3.14% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก3.12% ในไตรมาส 4/2563 เนื่องจากยังได้รับผลเชิงบวกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด 19 ที่ลากยาวและยังมีความเปราะบางอยู่มาตรการนี้จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้สถาบันการเงินบริหารจัดการ NPLs ได้อย่างเหมาะสมและยังช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม (เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การไกล่เกลี่ยหนึ้และไม่ถูกเร่งรัดขายสินทรัพย์ในราคาต่ำเกินจริง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาที่อาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ