คปภ.เตือน!ประชาชน อย่าหลงเชื่อ - แชร์ “ข้อมูล Blacklist บริษัทประกันภัย” ตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง ยันกำกับดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มที่
.ตามที่มีกระแสข่าวและการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูก Blacklist เกี่ยวกับสถานะทางการเงินและการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ นั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ตรวจสอบแล้วขอชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวมีการส่งต่อกันมาโดยไม่ปรากฏแหล่งที่มาของข้อมูลและมีเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง หากท่านได้รับข้อความดังกล่าวสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากชื่อของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกกล่าวอ้าง เช่น ที่มีการอ้างว่า “บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด และบริษัท พัชรประกันภัย จำกัด จ่ายค่าซ่อมช้ามากบางทีเป็นปีถึงจะชำระ” รวมถึงที่มีการกล่าวอ้างถึงบริษัทประกันภัยอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด และบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วในระหว่างปี 2547 ถึงปี 2557
ข้อความที่มีการส่งไลน์แอพพลิเคชั่นดังกล่าว จึงสร้างความเสียหายต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงทำลายความเชื่อมั่นของผู้ทำประกันภัยและประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมา บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับความเสียหายจากข่าวลืออันเป็นเท็จ ได้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่สร้างข่าวลือจนนำไปสู่การออกมาแถลงข่าว และขอโทษ ผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว แต่ในปัจจุบัน ยังคงมีผู้ส่งต่อข้อความดังกล่าวอยู่ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อกันมาดังกล่าว โดยสามารถสืบค้นข้อมูลด้านการประกันภัยได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th
“สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้มีความมั่นคงและปฏิบัติงานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยจะติดตามการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนที่ทำประกันภัยไว้ มั่นใจได้ว่าจะได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยด้วยความถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186”