นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ว่ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรยังคงมุ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศ โดยเน้นเสริมสร้างและพัฒนาธุรกิจหลักไม่ว่าในด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจตลาดทุน เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้และช่วยรักษาโอกาสทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตั้งเป้าสำหรับธุรกิจหลักในปี 2565 ดังต่อไปนี้
ธุรกิจสินเชื่อ ยังคงขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อผู้บริโภค และธุรกิจ Bancassurance ที่ควบคู่ไปกับสินเชื่อตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 12 นอกจากนั้น ยังพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาและการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคที่ช่องทางดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น
ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล(Wealth Management) มุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บริการการลงทุนต่างประเทศผ่าน Mandate Service หรือกองทุนแฟล็กชิป KKP-SGAA นอกจากนั้นยังจะรุกขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge ที่ใช้ระบบและกระบวนงานดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ได้กว้างขวางขึ้น โดยมีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลง
ธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมุ่งใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและนำเสนอบริการให้ลูกค้ารายย่อย ซึ่งจะถูกนำเสนอภายใต้ชื่อ Dime ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน KKP Mobile อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินในยุคดิจิทัล
“สำหรับผลประกอบการปี 2564 ในภาพรวมถือว่าออกมาในระดับที่น่าพอใจ โดยธุรกิจธนาคารสินเชื่อเติบโตร้อยละ 16.5 และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น ด้านธุรกิจตลาดทุน สามารถทำรายได้ดีเป็นประวัติการณ์ มาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่รักษาส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 14 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีจำนวนทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Assets under Advice:AUA) เพิ่มเป็น 7.34 แสนล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจวานิชธนกิจสามารถทำรายได้ดีจากค่าธรรมเนียมของธุรกรรมรายการใหญ่เช่น การไอพีโอของ PTTOR และ TIDLOR
สำหรับรายละเอียดในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อของธนาคารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่าร้อยละ 20 หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้นร้อยละ 40 ตลอดจนกลุ่มสินเชื่อบรรษัทที่เติบโตร้อยละ 30 โดยการดำเนินงานต่อไปยังคงยึดหลักการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยไม่ละเลยการให้ความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตไว้อย่างเพียงพอ” นายอภินันท์กล่าว
ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)(Mr. Preecha Techarungchaikul, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า “กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 7,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 จากปี 2563 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,817 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน2,765 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 175.1 นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 15,701ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 จากปี 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 17.33 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 13.55”
KKP ชี้โอไมครอนกระทบสั้น คาดฟื้นตัวครึ่งปีหลัง ทั้งปีโตได้ร้อยละ 3.9แต่เสี่ยงเงินเฟ้อและบาทผันผวนกระทบปากท้องและธุรกิจ
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด(มหาชน) (Dr. Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Securities Public Company Limited) เผย บล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นโดยเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโอไมครอนในไตรมาสที่หนึ่ง น่าจะมีผลกระทบในช่วงสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับร้อยละ 3.9 ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน
ทั้งนี้ ในภาพรวม ปี 2565 มีแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มแรก คือ สถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น สัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรคและผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แนวโน้มที่สอง คือ สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงินเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
แนวโน้มที่สาม คือ เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศแต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่ทั่วถึง
นอกจากนี้ เงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาสหนึ่ง จากต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพโดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย ในฝั่งนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายนอกและภายในประเทศ จะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่สำคัญสามด้านคือ 1.การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจจะทำให้การระบาดใหญ่ยังคงมีอยู่ต่อไป กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว 2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการควบคุมวิกฤตโควิด อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัวลง และ3.หากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ปรับตัวลดลงตามคาด อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้น มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้