คลังเผยมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565

รมต.คลัง เผย 3 มาตรการเพิ่มกำลังซื้อรักษาระดับการบริโภคในประเทศ ปี 2565 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 รับทราบและอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการฯ) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบโครงการ ดังต่อไปนี้ (1) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 (2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และ (3) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้แก่กลุ่มที่มีความเปราะบางทางด้านรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน และผู้ต้องการความช่วยเหลือตลอดจนเพื่อรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2565 ผ่านการเพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าสูงขึ้น โดยประชาชนแต่ละคนจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้เพียง 1 โครงการ ดังมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 8,071 ล้านบาท ให้แก่ผู้มีบัตรฯ จำนวนไม่เกิน 13.45 ล้านคน โดยจะใช้ฐานข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2565

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 1,352 ล้านบาท ให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้) ผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 จำนวนไม่เกิน 2.25 ล้านคน

3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตราร้อยละ 50 ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – วันที่ 30 เมษายน 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 29 ล้านคน ซึ่งการร่วมจ่ายคนละครึ่งนี้จะเป็นการช่วยเติมกำลังซื้อให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ

ในส่วนของการลงทะเบียนและการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีรายละเอียดและระยะเวลาดำเนินโครงการในเบื้องต้น ดังนี้

3.1 การลงทะเบียนและการใช้จ่าย

3.1.1 ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (คนเดิม) จำนวน 27.98 ล้านคน จะต้องยืนยันสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

โดยจะต้องเริ่มใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ โดยสิทธิที่เหลืออาจจะนำมาพิจารณาเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งหากยังประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงทะเบียนเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปในข้อ 3.1.2 ทั้งนี้ หากยืนยันสิทธิและใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ครั้งแรกในระยะที่กำหนดสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 

3.1.2 สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 จนกว่าจะครบจำนวนประมาณ 1 ล้านสิทธิ โดยสามารถใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ซึ่งช่องทางการลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 

1) กรณีเป็นประชาชนที่เคยได้รับสิทธิมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือ ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com 

2) กรณีประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”  สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com

3.2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ประชาชนที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 25 มกราคม 2565 หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 

ทั้งนี้ ก่อนการใช้สิทธิครั้งแรก ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทยฯ หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “Krungthai NEXT” ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยฯ แล้ว สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00 - 22.00 น. จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัครผ่าน www.คนละครึ่ง.com โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/ โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ จากการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 79,023 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ GDP ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 ต่อปี จากกรณีฐาน อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์ COVID-19