สกพอ. เร่งเครื่องเชื่อมความร่วมมือ 4 สถาบันการเงิน เสริมสภาพคล่องช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกษตรกร ผู้ค้ารายย่อย ชุมชนพื้นที่อีอีซี คลายผลกระทบโควิด 19เข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดขยายกิจการ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ เสริมเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแร่ง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน ผู้จัดการ ธ.ก.ส.
นายเจษฎา ช.เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการทำการแทนกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ และนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน สกพอ. และ 4 สถาบันทางการเงินดังกล่าว ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ความร่วมมือที่เกิดขึ้น ระหว่าง สกพอ. และ 4 สถาบันการเงินครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบสถานการณ์โควิด 19 ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้านการเงิน ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับในพื้นที่อีอีซี
ทั้งในเรื่องสินเชื่อรูปแบบพิเศษที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละกลุ่มสินเชื่อเพื่อยกระดับเกษตรกรไปสู่การทำธุรกิจการเกษตร และเข้าถึงบริการประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงผู้ประกอบการ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ อีอีซี เกิดความเข้มแข็งยกระดับรายได้ต่อเนื่อง เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงซึ่งจะเป็นต้นแบบเพื่อนำไปใช้พัฒนาพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ความร่วมมือของ 4 สถาบันการเงินดังกล่าว ได้ผลักดันให้เกิดธุรกรรมทางการเงิน ที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีอีซี ที่สำคัญๆ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี อาทิ 1) สินเชื่อ SME EEC 4.0 ให้วงเงินกู้สูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน หรือสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2) สินเชื่อ SME Robotics and Automation เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ วงเงินสูงสุด 80% ของเงินลงทุน ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี อีกทั้งยังได้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการเงินด้านการนำเข้าส่งออกและช่วยการบริหารจัดการทางการเงินให้สะดวก ด้วยบริการต่างๆ อาทิ e-Tax Invoice / e-Receipt นำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งการลงทุนโดยใช้เทคโนโลยี
การให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้ทุกกลุ่ม รวมถึงลูกค้าทั่วไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมการให้คำปรึกษา แนะนำ พิจารณาร่วมลงทุนหรือเข้าบริหารกองทุนรวม เพื่อการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
ธ.ก.ส. มาตรการสินเชื่อพิเศษ เพื่อช่วยยกระดับเกษตรกรไปสู่การทำธุรกิจด้านการเกษตร และการแปรรูปเบื้องต้น รวมทั้งสินเชื่อเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไปสู่การทำการเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และการเกษตรแม่นยำ เพื่อผลิตสินค้าการเกษตรมูลค่าสูง และวัตถุดิบเกษตร สมุนไพรคุณภาพสูง เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ 1) สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินตามความจำเป็นในการดำเนินงาน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี และปีที่ 4 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยปกติ ระยะเวลาชำระคืน 15 – 20 ปี เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ 2) สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร กรณีใช้หลักทรัพย์ไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีใช้บุคคลค้ำประกันไม่เกิน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลา 10 ปี เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการเกษตรนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ และ 3) สินเชื่อนวัตกรรมดีมีทุน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี เพื่อส่งเสริมเกษตรกร และประชาชนทั่วไปนํานวัตกรรม เทคโนโลยีและภูมิปัญญา มาใช้ในกระบวนการผลิตในรูปแบบ Smart Farmer
รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ให้การสนับสนุนและความร่วมมือในด้านการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เชื่อมโยงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับ ประชาชนและชุมชนอย่างเหมาะสม
เอสเอ็มอีแบงก์ ให้บริการออกสินเชื่อพิเศษแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และธุรกิจรายย่อยอื่นๆ ทั้งภาคการผลิต และบริการ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และบ่มเพาะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ได้เติบโตไปสู่การเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ 1) สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังโควิค-19 วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดย 6 เดือนแรกรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทน มีระยะเวลาชำระคืน 10 ปี 2) สินเชื่อ SME เพื่อรีไฟแนนท์ ลงทุนปรับปรุง ขยายธุรกิจ และเสริมสภาพคล่อง วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5-6 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 18 เดือน
ทิพยประกันภัย สนับสนุนให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการและนักลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ให้มีความรู้และ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประกันวินาศภัยและเงื่อนไขความคุ้มครองของผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย รวมถึงเรื่องของความเสี่ยงภัยที่เกี่ยวข้องกับแต่ละภาคธุรกิจ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยงภัย เสริมสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน บริษัท ฯ ได้สร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัย “TIP EEC 4.0” ได้แก่ 1) การประกันสำหรับพ่อค้าแม่ค้า ร้านค้า ธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับความเสียหายอุบัติภัยสำหรับรถเข็นขายสินค้า ร้านค้า และทรัพย์สินต่างๆ ตัวอย่างเช่น การประกันภัยสำหรับพ่อค้าแม่ค้า คุ้มครองทรัพย์สินวงเงิน 10,000 – 30,000 บาท และได้ขยายความคุ้มครองเงินชดเชยการสูญเสียรายได้ไม่เกิน 4,500 บาทจากอุบัติภัยดังกล่าว รวมทั้งการถูกโจรกรรมเงินทางไซเบอร์ ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาท ในราคาเริ่มต้น 365 บาท 2) Insurance Protection for Smart Factory 4.0 คุ้มครองโรงงานที่มีการปรับ line การผลิต จากแบบเก่าเป็นระบบ Automation และ IoT เพื่อใช้ประโยชน์จาก 5G ซึ่งทำงานร่วมกับระบบ Cloud โดยคุ้มครองการสูญเสียรายได้จากการถูกแฮกข้อมูล จนทำให้ดำเนินการผลิตไม่ได้ ในวงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท
สำหรับทุกสถาบันการเงินที่ร่วมลงนามฯ ครั้งนี้ จะร่วมมือกันประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจในการลงทุน หรือประกอบธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี และให้การสนับสนุนรวมทั้งคำปรึกษาแนะนำแก่เอสเอ็มอี และนักลงทุน สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกันอย่างครบวงจรในพื้นที่อีอีซี เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงทางธุรกิจแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน