คลังเปิดแผนกลยุทธ์ ดัน 3 มาตรการการเงิน-คลัง เร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนSMEs -Startup เข้าถึงแหล่งทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า“เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี”
สำหรับทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะให้ความสำคัญกับ
1. การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยจะมีการประเมินและปรับปรุงรูปแบบมาตรการที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
2. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งภาครัฐจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวนกว่า 1.18 ล้านล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น
3. การส่งเสริม SMEs และ Startup ทั้งในส่วนของการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยกลไกของตลาดเงิน ตลาดทุน และการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
4. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม BCG Model (Bio-Circular-Green Economic Model) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมพลังงานสะอาด เช่น มาตรการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การออก Sustainability Bond เพื่อนำเม็ดเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้สำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาสังคม เป็นต้น
5. การสนับสนุนการส่งออกและนำเข้าสินค้า โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการส่งออกและนำเข้าสินค้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจของผู้ส่งออกและนำเข้า
6. การส่งเสริม Digital Government ในการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงการคลังได้พัฒนาต่อยอดระบบงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งขยายขอบเขตการใช้ Digital ทั้งในด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเก็บภาษี รวมทั้งการให้บริการด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และประหยัดเงินงบประมาณ เป็นต้น
กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจการคลังไทยฟื้นตัวอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่2565) เพื่อเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
1.1 มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีและผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด เช่น ค่าสุรา เบียร์ และไวน์ ค่ายาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
1.2 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประชาชน รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19 โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ทั้งนี้ มาตรการจะมีผลบังคับใช้สำหรับการโอนและจดจำนองตั้งแต่วันถัดจากวันที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2. มาตรการลดภาระผู้ประกอบการและ/หรือประชาชน ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
2.1 มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบและไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 2564 โดยให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ขายสุรา ยาสูบ ไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลา 1 ปี เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิมซึ่งได้รับผลกระทบที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตขายสุรายาสูบและไพ่ต่อเนื่องในปีถัดไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2.2 มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศรวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสายการบินให้สามารถฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติให้เร็วที่สุด โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
2.3 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 และเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569 โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ รวมทั้งผ่อนปรนการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดเหลืออัตราร้อยละ 0.01 สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 นอกจากนี้ เพิ่มเติมนิยามเจ้าหนี้อื่นให้รวมถึงบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ดังนี้ (1) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน (2) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และ (3) บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินอื่นซึ่งเข้าร่วมและดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
3. มาตรการการเงิน ได้แก่ โครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำของขวัญปีใหม่ปี 2565 เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การคืนเงินลูกหนี้ธนาคารที่มีประวัติการชำระดี การยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญาและค่าประเมินหลักประกันส่วนลดค่าบริการและค่างวดสำหรับการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุด รวม 7.43 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้แล้ว ว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการออกไป จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังมีสิทธิคงเหลืออยู่เร่งออกมาใช้จ่ายก่อนวันสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่มีทิศทางดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตรายวันมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวล้วนช่วยสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคยังมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับศักยภาพของภูมิภาคต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาระบบ รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการคนละครึ่งในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการใหม่ได้ในช่วงเดือนมีนาคม2565