TPCH เปิดแผนธุรกิจปี 63 ตั้งเป้ารายได้โตต่อเนื่อง ทยอยรับรู้รายได้จากการ COD โรงไฟฟ้าชีวมวล-ขยะขนาดกำลังการผลิตเพิ่มอีก 59 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 60 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังผลิตรวม 119 เมกะวัตต์ ฟาก"กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี" บิ๊กบอส มั่นใจรักษาการเติบโตรายได้ และกำไรอย่างยั่งยืน เดินหน้าเจรจาเข้าร่วมทุนโรงไฟฟ้าจากขยะ ขนาด 9 เมกะวัตต์ คาดเห็นความชัดเจนช่วงต้นปี พร้อมเข้าร่วมโครงการของภาครัฐโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ชีวมวล-ชีวภาพ หนุนอนาคตสดใส
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และมีบริษัท ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ จำกัด (CRB) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากชีวมวล เป็นบริษัทแกน เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน จากการรับรู้การจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ กำลังการผลิตรวม 59 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) ,โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์5 (TPCH 5), โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ทำให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ครบทั้ง 10 โรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ 1 (SP1) จากเดิมที่มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล 60 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวม 119 เมกะวัตต์ภายในปี 2563
“ในปี 63 บริษัทฯ จะทยอยรับรู้รายได้จากการ COD โรงไฟฟ้าเพิ่ม จำนวน 5 แห่ง จากเดิมที่ COD ไปแล้ว 6 แห่ง พร้อมทั้งยังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประเภทอื่น ๆอีกด้วย เพื่อช่วยสนับสนุนให้รายได้และกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นางกนกทิพย์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า แผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะในปี 63 โดยตั้งเป้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 40 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ มีความสนใจที่จะเข้าร่วมทุน กับโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพที่ดี และคาดว่าจะสรุปผลการเจรจาร่วมได้ช่วงต้นปี 63
“โรงไฟฟ้า SP2 มีความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟได้ทั้ง 9 เมกะวัตต์ หากมีการเจรจาตกลงได้สำเร็จ บริษัทฯสามารถรับรู้รายได้และกำไรได้ทันที อีกทั้งบริษัท สยาม พาวเวอร์ (SP) ยังได้มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอยู่อีกหลายแห่ง” นายเชิดศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ประเภทชีวมวล และชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยเฉพาะชีวภาพ(พืชพลังงาน) โดยตั้งเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 90 เมกะวัตต์