บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าขยายการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน
ในสาธารณรัฐเกาหลีมุ่งสู่ความสำเร็จตามแผนการ
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้ B.Grimm Power Korea Limited (บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) เข้าทำการซื้อหุ้น 49.9% ใน KOPOS Co., Ltd. ภายใต้ Share Sale and Purchase Agreement กับ Renewable Energy Korea Co., Ltd. ในฐานะผู้ขาย ภายใต้มูลค่าการซื้อขายหุ้นรวม 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี การเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลของสาธารณรัฐเกาหลี
โดยการเข้าร่วมลงทุนใน KOPOS Co., Ltd. ในครั้งนี้ ทำให้ BGRIM มีส่วนร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 95.78 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งถือเป็นอีกความสำเร็จต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนของบริษัทให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ในปัจจุบัน สาธารณรัฐเกาหลีถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีการวางแผนพลังงานทดแทนไว้อย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ตามแผน carbon neutrality ให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2050
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม รวมถึงระบบการกักเก็บพลังงาน ESS เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ BGRIM ที่มุ่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ภายใต้รูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับภาครัฐทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้บริการไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูงอันเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ BGRIM เป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก จากปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 74% และจากพลังงานทดแทนประมาณ 26%
ปัจจุบัน BGRIM มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 50 โครงการ และตั้งเป้ากำลังการผลิตเติบโตจากจำนวน 3,058 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 ให้เพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยมุ่งสู่เป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ ให้สำเร็จภายในปี 2573 และมีรายได้ต่อปีกว่า 100,000 ล้านบาท