เลขาธิการ คปภ. นำทัพประกันภัยลงพื้นที่ “ชุมชนเกาะเกร็ด” จังหวัดนนทบุรี เปิดตัวโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 5 เพื่อเชื่อมโยงและเสิร์ฟความรู้ด้านการประกันภัยแบบเคาะประตูบ้านประชาชน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน ปี 5” ณ ชุมชนเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกสู่ชุมชนผ่านการถอดบทเรียน และเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ให้สามารถตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของชุมชน พร้อมจัดให้มีการเสวนา “ประกันภัยน่ารู้สู่ชุมชน” โดยมีประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทยนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย และผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต ร่วมเปิดโครงการ พร้อมทั้ง ได้รับเกียรติจากนางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายไพรัตน์ ขีดเขียน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด ร่วมเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับ
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดโครงการ ในตอนหนึ่งว่า โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยสำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ เรียนรู้วิถีชีวิต รับทราบสภาพปัญหาของชาวชุมชน รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและแนะนำให้ชุมชนทราบถึงบทบาทหน้าที่และภารกิจของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนช่วยพัฒนาและส่งเสริมการทำประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และประกันภัยประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน รวมทั้งได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชนและการเรียนรู้ด้านประกันภัยออกสู่สาธารณชน โดยจัดทำเป็นรายการ คปภ. เพื่อชุมชนเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการประกันภัยในชุมชนและในวงกว้าง รวมทั้งทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนต่าง ๆ
จากความสำเร็จข้างต้นทำให้มีการจัดโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ในปีนี้ เป็นปีที่ 5 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยปีนี้โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน จะเน้นการเข้าไปสัมผัสกับบริบทและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างตรงจุดให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังมีความพิเศษเพิ่มเติม คือการเชื่อมโยงกับโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย ของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้การส่งเสริมด้านการประกันภัยตรงตามความต้องการของชุมชน ตลอดจนพิจารณาประเภทภัยหรือความเสี่ยงที่ประชาชนในชุมชนให้ความสนใจในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น การประกันภัยอัคคีภัย การประกันอุทกภัย การประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ขณะเดียวกันการลงพื้นที่ “คปภ. เพื่อชุมชน” ยังมีรูปแบบของการสร้างการรับรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ผ่านการถอดบทเรียนจาก Case Study เป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยที่ถูกต้อง และเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิด พัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบส่งต่อองค์ความรู้ภายในชุมชนด้วยกันเอง เพื่อร่วมเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในระดับพื้นที่ และทิศทางในภาพรวมของระดับประเทศให้เป็นความสมดุลแบบ “เติมเต็มซึ่งกันและกัน” ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ได้อย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 5 ได้กำหนดลงพื้นที่ทำกิจกรรมรวม 5 ครั้ง 5 ชุมชน พร้อมมีการเสวนา “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ชุมชนวัดจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งระหว่างบ้านกับวัด มีวัดอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากและมีวัดที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้แต่ไม่ได้มีประกัน จึงเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยศาสนสถาน โดยบูรณาการร่วมกับโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ ณ ชุมชนบ้านนาคูหา อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ (24 มกราคม 2565) ซึ่งเป็นชุมชนวิถีชีวิตของชาวนาคูหาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ปลูกชา ใบเมี่ยงและกาแฟ และเป็นแหล่งปลูกฮ่อม และผลิตฮ่อมครบวงจรของจังหวัด อีกทั้ง มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงามของธรรมชาติและชุมชน จึงเน้นให้ความรู้การประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับการท่องเที่ยว และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยชา-กาแฟ ครั้งที่ 3 ภาคกลาง ณ ชุมชนหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเขาบ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ (28 กุมภาพันธ์ 2565) ซึ่งเป็นชุมชนม้งใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี โดยชาวชุมชนมีอาชีพหลัก คือ การทำสวนทำไร่ และอาชีพเสริม คือ การค้าขาย และหัตถกรรม จึงเน้นให้ความรู้การประกันภัยพืชผล ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ณ ชุมชนเกาะมะพร้าว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต (21 มีนาคม 2565) ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางกสิกรรมธรรมชาติสู่ “เกาะมะพร้าวโมเดล” เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนบนเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้มีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง ขณะที่พบว่ามีปัญหาเรื่องประกันชีวิต จึงเน้นการช่วยเหลือเรื่องประกันชีวิตและการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยประมง และครั้งที่ 5 ภาคตะวันออก วิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (23 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่มีความโดดเด่นเรื่องสวนผลไม้ที่มีปลอดภัย รสชาติดี และมีผลไม้พื้นบ้านที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี เช่น มังคุดโบราณ ทุเรียนโบราณ ที่มีขนาดสูงและใหญ่ที่สุด อีกทั้ง มีการแปรรูปผลไม้เป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก จึงเน้นให้ความรู้การประกันภัยผลไม้รวมถึงทุเรียน
“สำนักงาน คปภ. หวังว่าโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 5 จะเป็นโครงการข้ามปีที่จะทำให้สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้ลงพื้นที่ เรียนรู้ เกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการมีการประกันภัยของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนได้ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย และเกิดความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการประกันภัย สามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวแบบยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของชุมชนยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย