ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินเผยผลสำรวจประชาชนฐานรากปรับลดค่าใช้จ่ายในช่วงปีใหม่2563 โดยให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า“ศูนย์วิจัยฯได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน2,186 ตัวอย่างพบว่าภาพรวม การใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ49,900 ล้านบาทลดลงจาก ปีก่อนร้อยละ6.7 ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่3,550 บาทลดลงจากปีก่อนเช่นกันทั้งนี้ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มองว่ารายได้และค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับเท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่พบว่าส่วนใหญ่มาจากรายได้(ร้อยละ85.5) เงินออม(ร้อยละ10.3) เงินช่วยเหลือของรัฐ(ร้อยละ3.4) ส่วนเงินกู้ยืมซึ่งมีทั้งเงินกู้ในระบบและนอกระบบ(ร้อยละ0.8) โดยเมื่อเทียบกับ ปีก่อนพบว่าประชาชนฐานรากที่ใช้เงินในช่วงเทศกาลปีใหม่จากรายได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรมและการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลปีใหม่พบว่ากิจกรรม3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยมคือ(1) ให้เงินคนในครอบครัวร้อยละ55.4 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย1,985 บาท(2) สังสรรค์เลี้ยงฉลองร้อยละ49.7 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย1,150 บาท(3) ทำบุญ/ไหว้พระ/สวดมนต์ ร้อยละ44.7 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย400 บาททั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแต่ละกิจกรรมกับปีก่อนพบว่าประชาชนฐานรากให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวโดยการให้เงินกับคนในครอบครัวและกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นส่วนของขวัญ/ของฝากที่ประชาชนฐานรากคาดว่า จะซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่พบว่า3 อันดับแรกคืออาหาร/ผัก/ผลไม้/ขนม(ร้อยละ66.1) เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม(ร้อยละ51.8) และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ(ร้อยละ29.2) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ยังคงนิยมเลือกซื้อของขวัญ/ของฝากที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สำหรับสถานที่ซื้อและบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญของฝากพบว่าสถานที่ซื้อ3 อันดับแรกคือห้างสรรพสินค้า(ร้อยละ31.2) ร้านค้าปลีกสมัยใหม่(ร้อยละ31.1) และตลาด/ร้านค้าทั่วไป(ร้อยละ26.8) ส่วนบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญคือคนในครอบครัว(ร้อยละ84.8) ผู้ใหญ่ที่เคารพ(ร้อยละ37.3) และตนเอง(ร้อยละ33.4)
ประชาชนฐานรากตั้งเป้าหมายออมเงิน(ร้อยละ65.5) ลดรายจ่าย(ร้อยละ49.1) และดูแลสุขภาพ(ร้อยละ27.0) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าประชาชนฐานราก ให้ความสำคัญด้านการเงิน เป็นส่วนมากทั้งเรื่องการออมเงินลดรายจ่ายหารายได้เพิ่มและใช้หนี้ประชาชนฐานรากต้องการจากรัฐบาลเป็นของขวัญปีใหม่2563 พบว่า 3 อันดับแรกคือลดค่าครองชีพ(ร้อยละ55.1) ลดราคาค่าเชื้อเพลิง(ร้อยละ54.2) และการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ(ร้อยละ24.7) ซึ่งใกล้เคียงกับความต้องการของปีที่ผ่านมา สำหรับการรับรู้ของมาตรการ“ชิมช้อปใช้” พบว่าประชาชนฐานรากส่วนใหญ่รับรู้ถึงมาตรการฯร้อยละ93.5 และได้รับสิทธิร้อยละ37.9