นายกฯ นำทีมรัฐมนตรีลงพื้นที่เมืองสุพรรณบุรี มอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือชาวนา โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 วงเงินกว่า 74,000 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน โดยในรอบนี้ ธ.ก.ส. จะทยอยโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง 9-13 ธ.ค. พร้อมเสริมมาตรการคู่ขนานเพื่อพยุงราคาข้าวผ่านสินเชื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกวงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท
วันนี้ (9 ธันวาคม 2564) ณ ตลาดกลางสินค้าเกษตรสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในกิจกรรมส่งมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ตามกรอบการอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 จำนวน 74,569 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ได้รับผลตอบแทนจากการผลิตที่เหมาะสม เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน และช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 - 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้านบาท สำหรับในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 51,203 ครัวเรือน วงเงิน 1,064 ล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
นายธนารัตน์กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการยกระดับราคาข้าวเปลือก ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ประกอบด้วย ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัดข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเหนียว
คุณสมบัติข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม โดยในส่วนข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุมธานี 1 7,300 บาท/ตันและข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน โดยเกษตรกร กู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละ ไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน) นอกจากนี้รัฐบาลยังช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯจะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2565 และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินสินเชื่อรวม15,000 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพ เช่น การลดความชื้น การแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตร แห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระแทน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2565