วิจัยกรุงศรีชี้ไวรัสโอมิครอนสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรีให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยว่า การบริโภคและการส่งออกหนุนเศรษฐกิจเดือนตุลาคมฟื้นตัว การระบาดของไวรัสโอมิครอนเพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน (+1.6% MoM sa) ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม และแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกยังคงเติบโตดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า กอปรกับปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตคลี่คลายลงบ้าง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตและส่งออกได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผลจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศหนุนให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมเติบโตต่อเนื่องจากเดือนก่อน (+2.9%) สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนแม้จะปรับลดลง (-1.2%) หลังจากเร่งขึ้นในเดือนกันยายนก็ตาม แต่ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤศจิกายนที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 48.4 จากเดือนก่อน47.0

เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่บรรเทาลง การฉีดวัคซีนมีมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมประกอบกับผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศ ล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายนรวมทั้งสิ้น133,061 คน เร่งขึ้นจากเดือนตุลาคม 20,272 คน นอกจากนี้ ความต่อเนื่องของมาตรการรัฐยังช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้นในประเทศทางแอฟริกาและเริ่มตรวจพบในหลายประเทศมากขึ้นรวมถึงไทยด้วย ขณะที่ปัจจุบันยังต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนถึงความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน คาดกนง.คงดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 2.71% YoY จาก 2.38% เดือนตุลาคม  สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (+37.2%) ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหาร โดยเฉพาะผักสด (+12.7%) ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการปรับขึ้นของราคาเครื่องประกอบอาหาร (+6.2%) เนื่องจากความต้องการและต้นทุนขนส่งที่ปรับเพิ่ม ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงานอยู่ที่0.29% เพิ่มขึ้นจาก 0.21% เดือนตุลาคม สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.15% และ 0.23% ตามลำดับ

แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเร่งขึ้นในช่วงปลายปีนี้และมีแนวโน้มอาจแตะระดับสูงใกล้ 3% ในช่วงไตรมาส1/2565 เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำและการส่งผ่านของต้นทุน แต่คาดว่าจะชะลอลงและกลับมาแตะระดับใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเอื้อให้กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ


สำหรับเศรษฐกิจโลก วิจัยกรุงศรีระบุว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้น แต่ไวรัสโอมิครอนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในระยะต่อไป ในเดือนพฤศจิกายนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของโลกแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่ 54.8 โดยดัชนีของกลุ่มประเทศแกนหลัก อาทิยูโรโซน ญี่ปุ่น ปรับดีขึ้นสู่ระดับ 55.8 และ 53.3 ตามลำดับ สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่อง (ค่าดัชนี > 50) ของกิจกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยองค์ประกอบของดัชนี PMI ของโลกปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านผลผลิตยอดสั่งซื้อใหม่ ยอดสั่งซื้อเพื่อการส่งออก และการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบทางด้านราคาบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อยังเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันที่พุ่งขึ้น


ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ประเมินว่าภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจยาวนานกว่าที่คาดและถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศแกนหลักปรับนโยบายการเงินเร็วและแรงกว่าคาดการณ์เดิม จนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ OECD ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP โลกในปีนี้ลงเล็กน้อยสู่ 5.6% จากเดิมคาด 5.7% ส่วนในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.5% นอกจากนี้ OECD ยังระบุถึงความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดองค์การอนามัยโลก(WHO) รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเตือนว่าไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกจากปัญหาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนถือเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอาจซ้ำเติมภาวะชะงักงันด้านอุปทาน ส่วนความกังวลด้านเงินเฟ้อแม้อาจเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดด้านอุปทานและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ราคาพลังงานที่ปรับลดลงอาจช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง คาดเฟดอาจเร่งปรับลด QE ให้เสร็จก่อนกลางปีหน้าเพื่อปูทางปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนพฤศจิกายนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคการผลิตที่เพิ่มสู่ระดับ 61.1 สูงกว่าตลาดคาด และนอกภาคการผลิตซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อมูลในปี2540 ที่ 69.1 ด้านการจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 5.34 แสนตำแหน่ง สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่อัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ 4.2% ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พฤศจิกายน ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนที่ 1.95 ล้านคน

ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดอัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาด สอดคล้องกับรายงาน Beige Book ของเฟดที่ระบุถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับปานกลางในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ล่าสุดประธานเฟดส่งสัญญาณเร่งการปรับลดแรงกระตุ้นทางการเงิน โดยกล่าวต่อสภาคองเกรสว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งมากขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังประเมินว่าความเสี่ยงจากปัญหาไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อจากปัญหาการชะงักงันด้านอุปทานและการขาดแคลนแรงงานจากความวิตกกังวลต่อการระบาด จากปัจจัยดังกล่าวเฟดจึงเห็นควรว่าจะหารือเรื่องการยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิมในการประชุมวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะประกาศเร่งปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ให้เสร็จสิ้นก่อนกลางปีหน้าเพื่อปูทางให้สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 25 bps ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565