“ฉัตรชัย ศิริไล” นักการเงินแห่งปี 2564

วารสารการเงินธนาคาร ประกาศรางวัล “นักการเงินแห่งปี 2564 Financier of the Year 2021” ให้กับ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพสร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี Financier of the Year มาเป็นเวลา 38 ปีแล้ว โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2525 ในชื่อเดิมของรางวัล นายธนาคารแห่งปี เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งสถาบันการเงินประเภทอื่นที่มีผลงานโดดเด่น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันสมัย สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าและยั่งยืน ในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรางวัลนักการเงินแห่งปี ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาว่าเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ

ในปีนี้ คณะกรรมการตัดสินรางวัล นักการเงินแห่งปี ลงมติเอกฉันท์ มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี 2564 Financier of the Year 2021 ให้กับ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ด้วยผลงานที่โดดเด่นผ่านคุณสมบัติการเป็นนักการเงินแห่งปี ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้านคือ 1. เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย 2. เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ 3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตและยั่งยืนให้กับองค์กร  4. เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

นับตั้งแต่เข้ามาบริหารงานใน ธอสนายฉัตรชัยได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น ธนาคารที่ดีที่สุด สำหรับการมีบ้าน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารอย่างยั่งยืน ด้วยกลไก 3 ด้าน (GHBank Drive Engine) คือ 1.การดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึงข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2.การเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูง 3.การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนต่ำ ภายใต้กรอบภารกิจและหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย เพื่อให้ภารกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมๆ ไปกับการทำหน้าที่ผลักดันมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธอส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 20 มาตรการที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ตรงกับระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยมีลูกค้าเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการเป็นจำนวนสูงสุดกว่า 9.69 แสนบัญชี ซึ่งส่วนใหญ่สามารถปรับตัวผ่านวิกฤติจนเข้มแข็งได้

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นายฉัตรชัย ได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ธนาคารสามารถออกสลากออมทรัพย์ในปี 2562 และเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ จึงออกแบบสลากออมทรัพย์ ธอสให้แตกต่างจากสลากออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิมในตลาด จึงมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง

ความสำเร็จของการระดมเงินด้วยต้นทุนต่ำผ่านการออกสลากออมทรัพย์ ทำให้ ธอสสามารถลดภาระในการระดมเงินจากช่องทางอื่นออกไปได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงได้อย่างก้าวกระโดด จึงนำประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ไปออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีบ้านตามภารกิจหลักของธนาคาร

ในด้านยุทธศาสตร์การก้าวสู่ Digital Banking นายฉัตรชัย ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารให้แข็งแรง ทั้งปรับองค์กรไปสู่ระบบการทำงานที่ใช้ดิจิทัลอย่างเต็มรูป หรือ Fully Digital มีการลงทุนด้านดิจิทัล รวมถึงเพิ่มทักษะความสามารถของพนักงาน ด้วยการ Upskill และ Reskill พนักงานให้ตอบรับกับดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ธนาคารประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ดีขึ้น ส่งผลให้ธนาคารมีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

นอกจากนี้ ยังได้ขยายบริการดิจิทัลของธนาคารให้เติบโตขึ้น เพื่อให้สอดรับกับลูกค้าของธนาคารที่ได้ปรับพฤติกรรมในการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนลูกค้าที่สมัครและใช้บริการ GHB ALL 1.13 ล้านราย ส่งผลให้ Digital Transaction ผ่าน GHB ALL มีสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของ Transaction ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ธอส.ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของผลประกอบการในฐานะธนาคารของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้ปีละประมาณ 210,000-225,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ที่สูงที่สุดในระบบ

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 166,173 ล้านบาท 117,802 บัญชี เพิ่มขึ้น 6.53% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 สินเชื่อคงค้างรวม 1,408,857 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,455,358 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.52% และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ 108,201 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง169.80%

ธอส.ยังคงมีกำไรสุทธิตามตัวชี้วัดของธนาคารที่ 8,966 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่ง โดย  เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 15.36% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.50% สามารถคงความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยติดต่อกันมากกว่า10 ปี

ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) นายฉัตรชัยมุ่งเน้นการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อต้านการทุจริต ซึ่งคือหลักในการบริหารงานของ ธอสที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีกลไกการถ่วงดุลและดูแลให้มีการควบคุม กำกับ และตรวจสอบตามหลักการ 3 Lines of Defense รวมถึงสนับสนุนให้จัดกิจกรรม CG & CSR Day เป็นประจำทุกปี เพื่อปลูกฝังให้พนักงานทุกระดับมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม