PRAPAT มั่นใจธุรกิจปี 65 ฟื้นตัว หลังโควิดผ่อนคลาย
PRAPAT เปิดแผนธุรกิจปี 65 รุกตลาดต่างประเทศ เร่งอัดแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดันยอดโตตามเป้า ส่วนผลดำเนินงานไตรมาส 4 ปีนี้ มั่นใจผลงานทยอยฟื้นตัว หลังมีคำสั่งซื้อเพิ่มรับข่าวดีคลายล็อกดาวน์ รองรับการเปิดประเทศ
นายสุกานต์ อินทรสูต ผู้จัดการอาวุโส (ช่องทางจัดจำหน่าย) บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PRAPAT ผู้นำตลาดเทคโนโลยีทำความสะอาด CLEANING HYGIENE SOLUTIONS ในกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยภาพรวมธุรกิจบริษัทใน 10 เดือนแรกปี 2564 ว่า ต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 โดยเฉพาะช่วงที่กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ท ซึ่งเป็นตลาดลูกค้าหลักของบริษัทไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดด้านซักรีดลดลง จึงต้องเข้าไปทำตลาดในกลุ่มอื่นๆ เพิ่ม เช่น ร้านซักรีดในชุมชน รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ ส่งผลให้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเดือนเฉลี่ย 30-40 ราย จากเดิมในสถานการณ์ปกติที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10 รายต่อเดือน แต่ยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ก็ไม่สูงเท่ากับกลุ่มลูกค้าโรงแรมและรีสอร์ท
โดยยอดขายเดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ยอดขายลดลง 10 % โดยลดลงจากปีก่อนในไตรมาสแรกเท่านั้น ส่วนเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2654 ทำยอดขายดีขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย 1% โดยในปี 2564 กลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดเพื่อป้องกันโควิด ( Housekeeping Accessories ) เช่น ที่จ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ชุดพนักงานฉีดพ่น เครื่องฉีดพ่นและน้ำยาตัวฉีดพื้นผิว สามารถสร้างยอดขายออนไลน์และออฟไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สามารถเพิ่มยอดขายใน 11 เดือนแรก โตกว่า 100% ขณะที่เจลแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ยังคงทำยอดขายได้ตามเป้า แต่ยอดไม่สูงเท่ากับปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงแรก
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลทดลองเปิดประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง หรือ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นั้น PRAPAT ได้เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมเปิดเมือง พร้อมจัดทำแผนการตลาดและโปรโมชันต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ภายใต้แคมเปญ “100X100 ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ให้กับลูกค้าโรงแรม เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก โดยพบว่ายอดขายในช่วงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
แต่ทันที ที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์และประกาศเปิดประเทศให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจาก 45 ประเทศและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เดินทางเข้าประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทต่างๆทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาค ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมของบริษัท ทยอยกลับมาเปิดกิจการปกติเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในกลุ่ม PRAPAT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีลูกค้าใหม่เริ่มทยอยติดต่อเข้ามา นับเป็นสัญญาณบวกและส่งผลดีต่อธุรกิจของ PRAPAT ในไตรมาสสุดท้ายปี 2564
สำหรับการกำหนดเป้าหมายการตลาดช่วงเปิดประเทศและในปี 2565 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยแผนระยะสั้น ได้เริ่มดำเนินการแล้ว มีระยะเวลา 2 เดือนก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ ลุยการตลาดเชิงรุก พร้อมอัดแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยทีมเซลล์จะเข้าไปพบกับลูกค้าเดิม พร้อมให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ให้บริการและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆให้ฟรี โดยยังไม่แนะนำให้ซื้อผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ใดๆเพิ่มในช่วงนี้ ซึ่งพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้ทยอยกลับมาเปิดกิจการตามปกติแล้วประมาณ 70-80 % นับเป็นกลยุทธ์การขายที่ก่อเกิด ‘ภารกิจผูกผัน’ กับลูกค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งเดินหน้าหาลูกค้าใหม่ โดยใช้กลยุทธเดียวกัน ส่วนแผนระยะกลางและแผนระยะยาวจะสอดคล้องกัน กำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2565 เป็นต้นไป โดยเน้นขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเพิ่มยอดขายอุปกรณ์เครื่องจักรและการบริการ ให้มียอดเท่ากับกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการต่างลดจำนวนพนักงานลง โดยหันมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมากขึ้น เพื่อลดการสัมผัสป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งประหยัดงบประมาณขององค์กร นอกจากนี้ ยังทดลองนำร่องให้ทีมช่างที่ออกไปให้บริการกับลูกค้า ทดลองเป็นเซลล์ เปิดการขายด้วยตัวเอง หากลูกค้าสนใจสั่งสินค้าในกลุ่มของบริษัท PRAPAT เพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำแคมเปญโปรโมชั่นส่งเสริมการขายตลาดออนไลน์และออฟไลน์เพิ่มขึ้น โดยยังเน้นการให้บริการอย่างเต็มที่หลังการขายเต็มรูปแบบ เมื่อลูกค้ามีปัญหาเกิดขึ้น
สำหรับแผนรุกตลาดต่างประเทศปี 2565 จะไปร่วมทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับตัวแทนจัดจำหน่ายเดิมที่ทำธุรกิจร่วมกันมากว่า 10 ปี ที่ประเทศเวียดนาม ณ นครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเกาะฟู้ก๊วก เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อให้กว้างขึ้น ส่วนปี 2566 จะมุ่งเน้นสร้างการเติบโตตลาดประเทศอินโดนีเซีย หนึ่งประเทศที่เนื้อหอมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเข้าไปลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศศรีลังกา ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทยมายาวนาน ปัจจุบันมีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศศรีลังกามากขึ้น โดยหวังผลการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจากการลดภาษีนำเข้า นับเป็นแนวทางการเจาะตลาดเอเชียใต้และขยายตลาดใหม่ไปยังประเทศอินเดีย บังกลาเทศและมัลดีฟส์ในอนาคต รวมทั้งเดินหน้าขยายตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ ภายในปี 2567
“หลังภาครัฐเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเปิดประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ บริษัท คาดการณ์ว่ารายได้ในปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4และเติบโตขึ้นต่อเนื่องในภาพรวมปี 2565 ” นายสุกานต์ กล่าว