ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 อยู่ที่ 7.65 แสนคันลดลง 3.3% จากปีก่อน โดยปัจจัยฉุดรั้งมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 และกำลังซื้อที่ชะลอตัว พร้อมคาดว่าในปี 2565 ยอดขายจะทยอยกลับมาสู่ระดับปกติ 8.7 แสนคัน หลังประชากรได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และอายุเฉลี่ยรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้น ชี้รถยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง และยอดขายรถยนต์ในประเทศสะสมเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 อยู่ที่ 596,325 คัน หดตัวลง 2.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวลง 2.7% อยู่ที่ 336,936 คันและรถยนต์นั่งหดตัวลง 1.2% อยู่ที่ 259,389 คัน โดย ttb analytics คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 นี้ ยอดขายรถยนต์จะเริ่มมีการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังการคลายล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่าง ๆประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เริ่มทั่วถึงทั้งประเทศและการกระตุ้นยอดขายจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โปช่วงสิ้นปี ทำให้คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะอยู่ที่ 7.65 แสนคัน ซึ่งหดตัวลง 3.3%
เมื่อเจาะลึกเชิงพื้นที่โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนใหม่พบว่า ในช่วง 10 เดือนสะสมของปี 2564 ภูมิภาคที่ยอดจดทะเบียนรถใหม่ยังขยายตัว ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยขยายตัว 3.1% 1.5% และ 0.3% ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตมาจากรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก (เครื่องยนต์ดีเซล) เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก และในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคในพื้นที่มีกำลังซื้อรถยนต์เพื่อใช้ประกอบกิจการ อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่หลักที่มียอดขายรถยนต์ใหม่สูง ได้แก่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคกลาง พบว่า หดตัว 7.8% 4.7% และ 3.8% ตามลำดับเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้พึ่งพิงเศรษฐกิจในภาคการค้า และภาคบริการเป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2564 และทำให้ยอดขายรถยนต์ในพื้นที่ลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี หากพิจารณายอดจดทะเบียนรถใหม่ แม้ว่าภาพรวมรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์จะลดลง แต่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 10 เดือนของปี 2564 มียอดสะสมรวมกว่า 35,501 คัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถไฟฟ้าประเภท Hybrid 95% และเป็นรถไฟฟ้าประเภทใช้แบตเตอรี่ BEV 5% ขยายตัว 40% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีการเติบโตอย่างมากในทุกภูมิภาค ชี้ให้เห็นถึงความต้องการรถยนต์ที่มีความทันสมัยและประหยัดพลังงานซึ่งมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อยู่จากตลาดกลางถึงบน
ทั้งนี้ ttb analytics คาดว่าแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2565 จะทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติอยู่ที่8.7 แสนคัน หรือขยายตัว 13.8% แบ่งเป็นรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 17.6% และรถยนต์นั่งขยายตัว 8.8% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนเอกชนจะขยายตัว 4.2% และ 5.2% ตามลำดับ 2) การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 4.5% ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว 3) ดอกเบี้ยในประเทศทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทั้งปี 4) อายุรถยนต์เฉลี่ยบนท้องถนนที่สูง ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ (รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถยนต์นั่ง อายุเฉลี่ย 12.3 และ 9.7 ปี) 5) เทคโนโลยีรถยนต์ใหม่ ๆ ที่ค่ายรถยนต์นำเสนอต่อผู้บริโภค เช่น ระบบประหยัดพลังงาน ระบบการขับขี่ด้วยความปลอดภัย ระบบการถอยจอดอัตโนมัติ รวมถึงรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ทั้ง Hybrid และ BEV ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565
สำหรับแนวโน้มยอดขายปี 2565 เชิงพื้นที่ ประเมินว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะทยอยปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2564 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคการค้า ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินกิจการได้ดังเดิม จากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ข้อจำกัดการเดินทางและการทำกิจกรรมของประชาชน ประกอบกับการเรียนรู้ของผู้ประกอบการและประชาชนที่จะอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี ในปี 2565 มีสัญญาณความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง โดยเฉพาะข้าว ทำให้คาดว่าในพื้นที่เพาะปลูกข้าว ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน อาจได้รับผลกระทบกำลังซื้อ ทำให้ยอดขายในพื้นที่ดังกล่าวลดลงได้
ด้านความเสี่ยงภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2565 ที่สำคัญ ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน หากเข้ามาระบาดในประเทศ อาจส่งผลทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 2. ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยยังคงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก 3. หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 93% ต่อจีดีพี 4. การขาดแคลนชิป เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ได้ 5. ความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เนื่องจากต้องการควบคุมหนี้เสียในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา นับเป็นปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด