EXIM BANK จับมือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ธนาคารออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมสนับสนุนแพ็กเกจการเงินอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ผู้ประกอบการใน EEC นำไปใช้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของผู้ส่งออก เพื่อกระตุ้นให้ภาคส่งออกและการลงทุนขยายตัว นำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในระยะข้างหน้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ระหว่าง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ณ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการทำงานอย่างสอดประสานเหมือนการต่อจิกซอว์เพื่อเดินเครื่องเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย 3 สถาบันการเงินได้แก่ ออมสิน บสย. และ EXIM BANK จะจัดให้มีแพ็กเกจบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการใน EEC สำหรับนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขยายหรือปรับปรุงโรงงาน ยกระดับซอฟต์แวร์ในกระบวนการผลิต รวมถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว
แพ็กเกจทางการเงินของ EXIM BANK ในโครงการนี้ ได้แก่ สินเชื่อ EXIMEEC Plus เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนใน EEC หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน ระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี เป้าหมายวงเงิน 1,000 ล้านบาท
“EXIM BANK ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญอย่าง EEC เพื่อให้เกิดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองใหม่โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนภาคการผลิตเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของการส่งออก โดยสอดคล้องกับเมกะเทรนด์และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์กล่าว