บริษัท
บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ
ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
(Power Green Camp) ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก
ภายใต้หัวข้อ “ECO Living & Learning – เปลี่ยนปรับสู่กรีนไลฟ์สไตล์
ตอบรับ New Normal” โดยคัดเลือกเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไม่จำกัดสาขาวิชา
(เป็นครั้งแรก) จำนวน 40 คน จาก 40 โรงเรียน
31 จังหวัด จากผู้สมัครทั่วประเทศกว่า 217 คน มาร่วมเปิดประสบการณ์การเข้าค่ายแบบ
New Normal เพื่อเสริมสร้างพลังแห่งการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ระหว่างวันที่
16 ตุลาคม ถึง 21 พฤศจิกายน 2564 โดยผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้แนวทางการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ
รวมถึงกูรูด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผสมผสานทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ
นอกจากนี้ ทางค่ายฯ ยังมีอุปกรณ์ชุดทดลองทางวิทยาศาสตร์ จัดส่งให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฏิบัติกันถึงบ้าน
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย -
สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า “สำหรับบ้านปู เราเชื่อว่า “พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
ดังนั้นแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การจัดค่ายเพาเวอร์กรีนในรูปแบบปกติอย่างที่เราทำมาตลอด
15 ปีที่ผ่านมานั้นทำได้ยากขึ้น แต่บ้านปู รวมทั้งคณะสิ่งแวดล้อมฯ
ยังคงมีความตั้งใจที่จะสานต่อค่ายเพาเวอร์กรีน ต่อไปในปีนี้ด้วยรูปแบบออนไลน์
เพื่อเติมพลังความรู้ให้กับเยาวชนทั่วประเทศที่ไม่จำกัดเฉพาะสายวิทย์ฯ และมีความสนใจในประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
พร้อมกับปลูกฝังแนวทางการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามหลัก ESG ของบ้านปู
และเพื่อให้การจัดกิจกรรมมีประสิทธิผลมากขึ้น
เราจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบกิจกรรมที่เยาวชนจะได้รับทั้งความรู้ และประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
โดยเราได้มีการจัดส่งอุปกรณ์ชุดทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการถึงบ้าน
พร้อมกับมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำตลอดทุกกิจกรรมอย่างใกล้ชิด”
ผศ. ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 16
กล่าวว่า “แม้ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องปรับตัวสู่ยุค New
Normal เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ
รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ความปกติใหม่ แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่าง
ๆ ยังคงมีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัญหาภัยพิบัติ มลพิษทางสิ่งแวดล้อม
ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอีกมากมาย
ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น
อันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบจนกลายเป็นปัญหาสะสม
และเพราะจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากมนุษย์ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมายังสะท้อนให้เห็นถึงการก่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น เศษอาหารเหลือทิ้งที่มีจำนวนมหาศาล เราจึงพูดได้ว่าทุกปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน
ซึ่งการปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญ มีความรู้ ความเข้าใจ
และก้าวเข้ามามีส่วนในการร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไขก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนปรับพฤติกรรมให้เยาวชนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
นี่คือที่มาของหัวข้อการเรียนรู้ของค่ายฯ
ในปีนี้”
สำหรับกิจกรรมในค่ายเพาเวอร์กรีน
ครั้งที่ 16 ในปีนี้ ได้เริ่มต้นกันตั้งแต่การปูพื้นฐานผ่านกิจกรรม Transformative Learning เพื่อฝึกฝนเยาวชนในเรื่องของ
Soft Skills ทั้งความคิดสร้างสรรค์
การคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่จากทั่วประเทศในค่ายฯ
เพื่อฝึกฝนเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น ก่อนเข้าสู่การเรียนรู้ในลำดับต่อไป สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ก็คือ
การได้ลงมือทดลองปฏิบัติใน
3 ชุดการทดลองที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้จริงในครัวเรือนมูลค่ารวมคนละ
10,000 บาท ที่ทางค่ายฯ จัดส่งให้ถึงบ้านแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น
การทดลองชุด “ดักต่อไม่รอแล้วนะ” เพื่อเรียนรู้เรื่องน้ำเสีย การบำบัดน้ำเสีย
และการประดิษฐ์ถังดักไขมันเพื่อใช้ในครัวเรือน การทดลองชุด “Food Waste Transformation“
เพื่อเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะและการเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดย
อ. ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล การทดลองชุด “มีอยู่จริงหรือเปล่า....?” โดย ผศ. ดร.มณฑิรา ยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล
กับการสำรวจองค์ประกอบและคุณสมบัติของดินในบ้าน สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19
ที่ทำให้ทุกคนอยู่บ้านมากขึ้นนำไปสู่การหันมาปลูกต้นไม้และพืชผักสวนครัวมากขึ้น
และอีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ “ความสำคัญของการสื่อสาร” โดยอาจารย์เมย์
ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กับการฝึกทักษะการนำเสนองาน (presentation) ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยเสริมบุคลิกภาพ
ทั้งยังเป็นสิ่งที่น้อง ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับกิจกรรมการนำเสนอโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมภายในค่ายฯ และการนำเสนออื่นๆ ในอนาคต
กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมดจะเป็นความรู้ตั้งต้นให้เยาวชนทั้ง
40 คนได้นำไปต่อยอดสู่การพัฒนาโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นกิจกรรมปิดท้ายของค่ายเพาเวอร์กรีน โดยการจับกลุ่มกับเพื่อน ๆ
ในค่ายฯ ทีมละ 4 คน รวมเป็นจำนวน 10 ทีม
เพื่อร่วมจัดทำคลิปวิดีโอนำเสนอแนวคิด กิจกรรม โครงงาน หรือสิ่งประดิษฐ์
ด้วยความยาวไม่เกิน 5 นาที ในหัวข้อ “ECO Living & Learning เปลี่ยนปรับสู่กรีนไลฟ์สไตล์ตอบรับ New Normal”
เป็นการประมวลความรู้ที่ได้รับจากการมาเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในปีนี้
การนำเสนอโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของเยาวชนที่มาร่วมเข้าค่ายเพาเวอร์กรีน
ครั้งที่ 16 จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน
2564 โดยทางค่ายฯ มีทุนการศึกษามอบให้กับทีมที่นำเสนอผลงานได้ยอดเยี่ยมที่สุด
4 รางวัล พร้อมรางวัลทีมขวัญใจมหาชน รวมมูลค่าเงินรางวัลมากกว่า
100,000 บาท