ลบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAMยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมจากประชาชนและนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ โดยได้กำหนดราคาขายสุดท้ายที่ 17.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดจากช่วงราคาเสนอขายที่ 15.50-17.50 บาท ผู้บริหารเตรียมยกทีมเดินหน้านำหุ้นเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก หรือ 1st Trading Day ในวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมนี้
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมั่นใจในการระดมทุนผ่านหุ้นBAM ในครั้งนี้ว่า “การเข้าจดทะเบียนพร้อมทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (1st Trading Day) ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ เป็นก้าวแห่งความสำเร็จที่บุคคลากรของ BAM ทุกคนภาคภูมิใจ เพราะจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน เพิ่มแหล่งเงินทุนที่หลากหลายสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต และลดภาระหนี้ของบริษัทฯ ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน”
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นโอกาสสำหรับประชาชนและนักลงทุนที่สนใจสามารถเป็นเจ้าของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีเครือข่ายสาขาและสำนักงานมากที่สุดครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค พร้อมศักยภาพในการสร้างโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจ และการเติบโตจาก NPLs และ NPAs ในระบบธนาคารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการดําเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2562 BAM มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% จากงวดเดียวกันของปี 2561 และมีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.5 % จากงวดเดียวกันของปี 2561
นางทองอุไร กล่าวถึงความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนของ BAM ว่า “การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ BAM เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตอบสนองต่อสถานการณ์และสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบทางภาษี และมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ (TFRS 9) และได้เตรียมความพร้อมในการรับมือถึงปัจจัยดังกล่าว โดยยังมั่นใจถึงผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้จากกระแสเงินสดของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและมั่นคง เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ BAM ยังคงเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดย นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึง 30 กันยายน 2562 BAM สามารถปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ NPLs ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 90,000 ล้านบาท” นางทองอุไรกล่าว