กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2564 กำไรสุทธิจำนวน 27,409 ล้านบาท ดันสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโต 4.4% และ 4.2% ตามลำดับ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างต่อเนื่องผ่านหลายมาตรการเชิงรุก ตอกย้ำพันธกิจของธนาคารในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
กรุงศรียังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบาง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบจากโรคระบาด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สามที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแรงลงอย่างชัดเจนส่งผลให้ยอดสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 233,617 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารได้สนับสนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดรวม 25,709 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2564
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยมี กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติลดลง 2.2% หรือจำนวน 431 ล้านบาท จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563 โดยส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อหลายครั้งเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของลูกค้า และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อลูกหนี้รายย่อย
เมื่อรวมกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสที่สองปี2564 ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 27,409 ล้านบาท สำหรับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 เป็นการเพิ่มขึ้น 39.5% จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563
เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 1.2% หรือจำนวน 21,294 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 ซึ่งเกิดจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อ SME และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ 4.4% และ 4.2% ตามลำดับ สะท้อนความมุ่งมั่น และทุ่มเทของกรุงศรีในการช่วยเหลือลูกค้าผ่านหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ
เงินรับฝาก ลดลง 2.8% หรือจำนวน 51,564 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 โดยส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการสภาพคล่องเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มสัดส่วนเงินรับฝากออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.23% เทียบกับ 3.63% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อหลายครั้ง และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อลูกหนี้รายย่อย
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 12,104 ล้านบาท หรือ 50.5% จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563 โดยปัจจัยหลักมาจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นเงินติดล้อ หากไม่รวมรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุนข้างต้น รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินธุรกิจปกติเพิ่มขึ้นจำนวน 1,377 ล้านบาท หรือ 5.7% จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 42.1% ในไตรมาสสามปี 2564 จาก 43.0% ใน
ไตรมาสสองปี 2564 โดยเกิดจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของธนาคารท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่ยืดเยื้อ และอยู่ที่ 43.0% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับ 41.2% ในช่วงเดียวกันของปี 2563
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.27% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2564
อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ธนาคารยังคงรักษาระดับการตั้งเงินสำรองอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงทำให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 177.5% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2564
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.46% จาก 17.92% ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2563
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า “การเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของกรุงศรีในการสนับสนุนลูกค้าผ่านหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ การสนับสนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”
“แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น แต่การเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในช่วงต้นไตรมาสที่สี่ของปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กรุงศรีจึงคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในปีนี้ ในกรอบล่างของ 3-5%”
ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.85 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.78 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.49 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.72 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.46% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.50%