BROOK นำร่องเผยข้อมูลลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เร่งเดินหน้า Pilot Project ขุดเหรียญ


 

BROOK เร่งเปิดเผยข้อมูลการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ตอกย้ำความเชื่อมั่นในการเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนโลกใหม่ พร้อมวางกลยุทธ์จัดสรรพอร์ตลงทุนด้วยความเชี่ยวชาญ ลุยเดินหน้าโปรเจกต์นำร่อง เปิดเหมืองขุดเหรียญ ตามแผนงาน

นายวริศ บูลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK  ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาด้านการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ผู้บริหารและคณะกรรมการได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุน นโยบายทางบัญชีและผลกระทบงบการเงินสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่าต่อเนื่อง ซึ่งกรอบการลงทุนได้กำหนดโดยคณะกรรมการบริษัทในการตัดสินใจเพิ่มหรือลดตามความเหมาะสมของสถานการณ์นั้นๆได้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งแต่ 29 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2564 มีมูลค่ารวมกว่า 1,291 ล้านบาท เทียบเป็นมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ลงทุนไปแล้วอยู่ที่ 36.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาตลาดอยู่ที่ 41.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงกว่าลงทุนจริง ด้านคณะกรรมการยังไม่ได้ตัดสินใจขายเงินลงทุนใดๆ เนื่องจากมีหลักในการลงทุนว่าจะต้องไม่เป็นรูปแบบ Trading Activity หรือการซื้อๆขายๆทุกวันหรือทุกสัปดาห์

“กลยุทธ์การจัดสรรพอร์ตลงทุน บริษัทแบ่งสัดส่วนออกเป็น 60 : 40  โดยสัดส่วน 60% จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Bitcoin, Ethereum, Binance และ Stable Coin โดย Bitcoin มีมูลค่าตามราคาตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นผู้นำในตลาดคริปโทเคอเรนซี รวมถึงได้รับการยอมรับในระดับนักลงทุนสถาบัน Bitcoin ถือว่าได้รับการทดสอบมานานกว่า 10 ปี สำหรับ Ethereum นั้น เป็นเหรียญที่มีมูลค่าตามราคาตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่สอง แต่เป็นผู้นำในด้านสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และมีมานานกว่า 7 ปี สำหรับ Binance เป็นเหรียญที่มีมูลค่าตามราคาตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ Top 10 แต่เป็นผู้นำในด้านการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ (Centralize Exchange) โดย Binance มีบัญชีที่ลงทะเบียนด้วยมากกว่า 70 ล้านบัญชี นำมาซึ่งมูลค่าเครือข่ายที่แข็งแกร่งมาก ซึ่งเป็นธีมหลักของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทสุดท้ายคือ Stable Coin ซึ่งถือเป็นการลงทุนตามเงิน Fiat ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าเหรียญอื่นๆ ส่วนการลงทุนอีก 40% ที่เหลือจะเป็นเหรียญอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งเหรียญเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเหรียญที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาและมูลค่าตามราคาตลาดที่น้อยกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ตามการลงทุนในเหรียญเหล่านี้เป็นส่วนที่จำเป็นในการดำเนินการในระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าจะเติบโตไปด้วยกันในฐานะสินทรัพย์ประเภทใหม่ ดังนั้นบริษัทฯ จึงตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหลากหลายประเภทมากขึ้นเพื่อติดตามโครงการใหม่ๆ ไปตามกรอบแนวทางความเสี่ยง” วริศ บูลกุล กล่าว

นายวริศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการติดตามพอร์ตภายหลังการเข้าลงทุน บริษัทไม่ได้ใช้หลักมาตรวัดเพื่อทำการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) แต่จะอยู่ในรูปแบบการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด (Closely monitoring) หากปรากฏว่ามีข้อมูลข่าวสารที่ทางแผนกการลงทุนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นปัจจัยที่มีความเป็นวิกฤติ (critical point) เช่น ระบบ Bitcoin หรือ Blockchain ถูกโจมตีก่อให้เกิดความล้มเหลวในเทคโนโลยี หรือมีเงินจำนวนมหาศาลถูกขโมยออกจากระบบ ในทางกลับกันหากเป็นปัจจัยบวก เช่น การค้นพบเทคโนโลยีใหม่หรือการต่อยอดเทคโนโลยีเดิมซึ่งประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดไว้ แผนกการลงทุนก็จะใช้ดุลยพินิจในการขอเรียกประชุมคณะกรรมการการลงทุนเพื่อรายงานสถานการณ์และข้อมูลเพื่อให้ความเข้าใจเพิ่มเติมถึงความผันผวนว่าสามารถเกิดจากอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทางคณะกรรมการการลงทุนได้ดำเนินการตัดสินใจต่อไปว่าควรจะทำอย่างไร

ขณะที่การลงทุนโปรเจกต์ใหม่ในระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับเครือข่ายสินทรัพย์ดิจิทัล มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) สร้าง Knowledge Base ตลอดจนสร้างแบรนด์ในฐานะผู้ที่มีข้อมูลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมในส่วนต่างๆ (Integrated Knowledge Base) ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว  ซึ่งหากสภาวะไม่เหมาะสม อาจจะมีการลงทุนไม่ถึงตามจำนวน 70 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ได้