เคทีซี - ธ.ก.ส. ลงนามในสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ ต่อยอดบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการให้กับสมาชิกร้านน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ด้วยระบบ QR Credit Card Payment บนเครือข่ายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดเป็นเจ้าแรกในไทย รุกช่วยผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนการเกษตร ขยายโอกาสทางการตลาดเข้าถึงระบบการชำระที่ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย รับวิถีชีวิตใหม่ ดีเดย์เปิดให้บริการช่วงเดือน ธันวาคม 2564 ตั้งเป้าสิ้นปีมี 2,500 ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แนวโน้มการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตในรูปแบบของ QR Code มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 มียอดใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตผ่านระบบ QR Code มูลค่า 110 ล้านบาท หรือเติบโต 90% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้บริโภคคนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแบบฉับพลัน ทั้งการจับจ่ายค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์ ในขณะที่ร้านค้าต่างก็ต้องปรับตัวและเปิดรับการชำระเงินที่ไร้การสัมผัสมากขึ้น”
“โครงการต่อยอดบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตผ่านระบบ QR Credit Card Payment บนเครือข่ายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดในครั้งนี้ จึงเป็นการผนึกความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ที่ถูกที่ถูกเวลา และเป็นการต่อยอดการทำงานบทใหม่จากปีก่อนหน้า ที่รับชำระด้วย QR Code ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของ Alipay เพียงอย่างเดียว เพื่อมุ่งสู่นโยบายการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร พร้อมขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่ม Smart Farmer และกลุ่มร้านค้าขนาดเล็ก (Micro Merchants) โดยจะเปิดให้บริการช่วงเดือน ธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงจังหวะที่สอดรับกับการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวพอดี จึงคาดหมายว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการถึง 2,500 ร้านค้า ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการชำระทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น”
“เราหวังว่าโครงการขยายช่องทางรับชำระเงินผ่าน QR Credit Card Payment ในครั้งนี้ จะช่วยให้ร้านน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ขายสินค้าและบริการคล่องตัวมากขึ้น และสร้างรายได้จากยอดขายอย่างมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกันก็สามารถตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยที่ถือบัตรเครดิตวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว และยังได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานจากบัตรเครดิตอีกด้วย ซึ่งเคทีซีได้เตรียมความพร้อมด้านระบบการชำระเงินที่เข้มแข็งตามมาตรฐานสากลไว้รองรับ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี และมั่นใจได้ว่าทุกการใช้จ่ายมีความปลอดภัย”
ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. มุ่งมั่นยกระดับการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร โดยให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (SMAEs) สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าโดยผ่านการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กว้างขวางมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมมือกับเคทีซี เพื่อเปิดช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่เป็นสมาชิกร้านน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ด้วย QR Credit Card Payment บนเครือข่ายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าชุมชนสร้างไทย ที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านค้าปลีก ชุมชนท่องเที่ยว รถเช่า รถโดยสาร และรถทัวร์ เป็นต้น
โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากการลงนามความร่วมมือเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากโครงการให้บริการร้านค้ารับชำระ QR Code และ e-Commerce เพื่อให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตร ที่เป็นสมาชิกร้านค้าน้องหอมจังของ ธ.ก.ส. ด้วย QR Code ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของ Alipay ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างสองหน่วยงานจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากมีความแข็งแกร่ง ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยหากเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงจะเป็นโอกาสที่ประชาชนได้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและจะทำให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปิดบริการชำระด้วย QR Credit Card Payment อันเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคซึ่งจะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีร้านน้องหอมจัง จำนวน 24,000 ร้านค้า สำหรับร้านน้องหอมจังเดิมสามารถสมัครใช้บริการรับชำระ QR Code Credit Card ผ่าน Application ร้านน้องหอมจัง และในส่วนของร้านค้าที่ไม่เคยสมัครใช้บริการ Application ร้านน้องหอมจัง สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02-555-0555