บสย. จัดกิจกรรม “TCG Stakeholders Day : ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย.” ผลตอบรับชี้ชัด บทบาทและผลงาน บสย. เป็นที่ประจักษ์ พร้อมนำข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร ผ่านกลไก “ค้ำประกันสินเชื่อ” สู่ทศวรรษที่ 3 อย่างยั่งยืน จากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดกิจกรรม “TCG Stakeholders Day :ความเห็นของท่านสำคัญกับ บสย.” เปิดเวทีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 โดยมีนางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป และนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานบริหารช่องทางและพัฒนาผู้ประกอบการร่วมถ่ายทอด วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แผนงาน และผลดำเนินงาน พร้อมการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้ง 9 กลุ่มประกอบด้วย 1. ลูกค้า 2. สถาบันการเงิน 3. ผู้กำหนดนโยบายและผู้จัดสรรงบประมาณ 4. บุคลากร บสย. 5. ผู้ถือหุ้น 6. คู่ความร่วมมือ 7. ผู้ส่งมอบ 8. ชุมชนและสังคม 9. สื่อมวลชน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานเข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น
นางวสุกานต์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 นำไปสู่ความท้าทายใหม่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ บสย. จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับกระบวนการทำงานและวิธีคิดใหม่ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง สู่บริบทใหม่ New Normal โดยบสย. ได้วางยุทธศาสตร์สนับสนุนแผนการดำเนินงานในปี 2564-2569 ด้วยการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ตามแนวทางแห่งความยั่งยืน ทั้งด้านการบริการ ด้านแหล่งเงินทุนและธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ การสร้างรายได้เพิ่ม ขยายฐานสินเชื่อสู่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มต่างๆและรายย่อยมากขึ้น
นอกจากนี้ ในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในปี 2564 - 2569 บสย.ยังได้กำหนดแผนปฏิบัติงานการขับเคลื่อน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและตอบสนองต่อความคาดหวังระหว่าง บสย. กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินโครงการต่างๆ รวม 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ 2. โครงการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนกระบวนการทำงาน บสย. Call Center 02-890-9999 3. โครงการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center 4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลของคณะกรรมการ บสย. 5. โครงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบงานเพื่อรองรับธุรกรรมหลัก บสย.
ในการประชุมครั้งนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชี้ชัดว่า บทบาทและผลงาน บสย. เป็นที่ประจักษ์ โดยขอให้ บสย.เป็นแกนหลักในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู พัฒนา และส่งเสริมความรู้ให้คำปรึกษาทางการเงิน แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ครบวงจร ซึ่ง บสย. จะนำข้อเสนอแนะนี้ไปดำเนินการปรับใช้ และพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่อยอดความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจ บสย. ช่วย SMEs พลิกฟื้นวิกฤต ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ ให้ความรู้ทางการเงิน และการขยายกลุ่มเป้าหมายการเข้าถึงสินเชื่อ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 อย่างยั่งยืน