มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออกโต กระแสนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ : ปัจจัยหนุนธุรกิจค้าปลีกฟื้นหลังคลายล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่มีความรุนแรงมากกว่าระลอกแรกในปี 2563 ได้ส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกด้านให้สะดุดลงอีกครั้ง และส่งผลกระทบไปยังหลายภาคธุรกิจที่เพิ่งฟื้นตัวซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีกว่า 5 ล้านล้านบาท สะท้อนจากดัชนีการเคลื่อนที่ Google Mobility และดัชนีค้าปลีกในภาพรวมได้ชะลอลงและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งเป็นผลของสถานการณ์การระบาดยังมีความน่ากังวล นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี จากการที่อัตราการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นำไปสู่การเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ใน 29 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ซึ่งคาดว่าจะลดแรงกดดันต่อธุรกิจค้าปลีก และเริ่มทยอยฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวประกอบด้วย 1)มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ เราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย 2) กำลังซื้อที่มีแรงหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี 3) กระแสความนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ และ 4) การฉีดวัคซีนที่คาดว่าจะครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ 70% ภายในปี 2564 ซึ่งสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตให้กลับมาเป็นปกติ ในขณะที่ ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดการฟื้นตัว ได้แก่ โอกาสเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ทำให้ต้องชะลอการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ออกไป และหนี้ครัวเรือนที่ไต่ระดับสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มรูปแบบ
ttb analytics ประเมินธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 จนถึงกลางปี 2565 จากการประเมินของ ttb analytics โดยใช้ข้อมูลองค์ประกอบย่อยของดัชนีค้าปลีกอาทิ ร้านขายปลีกสินค้าไม่คงทน (ได้แก่ ขายอาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น) ร้านขายปลีกสินค้าคงทน (ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น)และการขายสินค้าออนไลน์ มองทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาส3 ปี 2564 ถึงไตรมาส 1 ปี 2565 โดยแบ่งตามระดับการฟื้นตัวออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มใช้เวลาฟื้น 1-3 เดือน ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกสินค้าออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากคาดการณ์ดัชนีค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2564 โตขึ้นเกือบ 3 เท่า อยู่ที่ระดับ 288 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 ที่อยู่ที่ 100 ร้านขายปลีกทีวีและเครื่องเสียง ร้านขายปลีกเครื่องสำอาง เภสัชกรรมและเวชภัณฑ์ การขายปลีกสินค้าอื่น ๆ บนแผงลอยและตลาด การขายหรือซ่อมจักรยานยนต์ ร้านขายปลีกสินค้ามือสอง ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และผู้ขายเป็นผู้ค้ารายย่อยเป็นจำนวนมาก
กลุ่มใช้เวลาฟื้น 3-6 เดือน ได้แก่ การขายรถยนต์/อุปกรณ์ และการซ่อมบำรุงรถยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากคาดการณ์ดัชนีค้าปลีกในไตรมาส1 ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 97 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 ที่อยู่ที่ 100 ร้านขายปลีกอาหาร / เครื่องดื่ม ร้านขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ร้านขายปลีกเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง มีปัจจัยหนุนด้วยการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
กลุ่มใช้เวลาฟื้นมากกว่า 6 เดือน ได้แก่ ร้านขายปลีกสินค้าของที่ระลึกและวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนให้เห็นจากคาดการณ์ดัชนีค้าปลีกในไตรมาส1 ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 45 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 ที่อยู่ที่ 100 ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวแซนด์บ๊อกซ์ของจังหวัดต่าง ๆ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ส่วนร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้างจะมีการฟื้นตัวตามการปรับที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ