สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการออม พร้อมส่งเสริมการออมเงินเพื่ออนาคตให้นักเรียนในสังกัด สช. สมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้เข้าใจการวางแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
วันนี้ (22 กันยายน 2564) ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการออม ระหว่าง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในกลุ่มนักเรียน สังกัด สช. ให้มีเงินออมกับ กอช. ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ได้รับเกียรติจาก ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและมอบนโยบาย โดยมี นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน คณะผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จากสถานศึกษาเอกชน ที่เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายใต้สังกัด สช. รับมอบนโยบายเพื่อดำเนินการส่งเสริมการออมเพื่ออนาคต ในสถานศึกษาผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference)
ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กับ กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการระหว่าง กอช. กับ สช. ให้นักเรียนในสังกัด สช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนทางการเงินเพื่ออนาคต และรับสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. ดั่งคำพังเพยที่ว่า “มีสลึง พึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์” ซึ่งสอนให้คนไทยรู้จักการออมและการบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองให้เพียงพอ และพอเพียงในการใช้จ่าย ดังนั้นการส่งเสริมการออมในโรงเรียนเอกชน จึงเป็นทั้งการให้การศึกษา การปฎิบัติจริงในการออม ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนจนถึงวัยเริ่มต้นชีวิตการทำงาน
โดยความร่วมมือระหว่าง สช. กับ กอช. ในการส่งเสริมการออมในโรงเรียนเอกชนเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงการสะสมเงินเพียงอย่างเดียว ครูสามารถที่จะเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียน สอนและชวนให้นักเรียนปฏิบัติด้วย การเรียนรู้และศึกษาการจัดการเงินเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและฝากให้สถานศึกษาในสังกัด สช. ทุกแห่ง ช่วยกันผลักดัน ส่งเสริมการปลูกฝังวินัยด้านการออม และวางแผนทางการเงินตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งข้อดีของการการออมกับ กอช. นั้น เมื่อออมเงิน รัฐบาลก็จะสมทบเงินเพิ่มให้ เงินสะสมและเงินสมทบ รวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้น เพิ่มความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สช. และ กอช. ในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการออมในโรงเรียนเอกชน จำนวน 840 แห่ง ซึ่งจะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ในระดับสถานศึกษา และมีการติดตามประเมินผลการส่งเสริมการออมในโรงเรียนเอกชนต่อไป ซึ่งการส่งเสริมการออม เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ สช. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้กิจกรรมการออมเงิน เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้กับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด สช. ที่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ กอช. ให้สมัครเป็นสมาชิก เพื่อเป็นการจัดการออมของตนในอนาคต โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน และให้เงินสมทบในการออม ผู้ที่เป็นสมาชิกกับ กอช. จนอายุครบ 60 ปี ก็จะมีบำนาญใช้ตลอดชีวิต
การออมจึงไม่ใช่เพียงการสะสมเงิน หรือการมีสวัสดิการเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ว่าเป็นการให้การศึกษา หรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนจะต้องสอนให้นักเรียน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รู้จักบริหารจัดการด้านการเงินของตนเอง รู้จักกการวางแผนการใช้จ่าย และการฝึกวินัยทางการเงิน ซึ่งไม่เพียงแต่นักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในระบบเท่านั้น นักเรียนในโรงเรียนนอกระบบก็ควรจะต้องสอน สอดแทรกความรู้แง่คิดมุมมองในเรื่องนี้ให้กับผู้เรียนของโรงเรียนเอกชนด้วย ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรจะตระหนักในการส่งเสริมการออม และการให้การศึกษาในเรื่องการวางแผนจัดการด้านการเงินให้กับผู้เรียนด้วย
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญพื้นฐานภาคประชาชน ในการดูแลแรงงานนอกระบบให้มีบำนาญ โดยเริ่มเป็นสมาชิกได้ ตั้งแต่วัยเรียนอายุ 15 ปี จนเริ่มเข้าสู่วัยทำงานถึงอายุ 60 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมทางการเงินในอนาคตการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่เยาวชนควรได้รับความรู้เป็นพื้นฐานของการบริหารเงินให้รู้จักใช้เงินอย่างรู้คุณค่าสอดคล้องกับหนึ่งในวิชาเรียนการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการบริหารเงินต่อยอดเงินออมให้งอกเงย มีมากออมมาก มีน้อยออมน้อย โดยการออมเงินกับ กอช. เริ่มต้นออมเพียง 50 บาทต่อครั้ง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ได้เงินสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก
อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสมสูงสุด 600 บาทต่อปี
อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสมสูงสุด 960 บาทต่อปี
อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสมสูงสุด 1,200 บาทต่อปี
ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่การทำงานในระบบ สิทธิ์การเป็นสมาชิกยังคงอยู่ สามารถส่งเงินออมกับ กอช. ได้ แต่ไม่ได้รับเงินสมทบโดยเงินที่ออมต่อ กอช. จะนำไปบริหารให้เกิดผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และเงินออมของสมาชิกสามารถนำเงินไปใช้ลดหย่อนภาษีประจำปี เมื่ออายุครบ 60 ปี สมาชิกจะได้รับเงินจาก กอช. สองรูปแบบ เงินออมขณะกำลังศึกษาจะได้เป็นบำนาญรายเดือน เงินออมที่ออมขณะเข้าในระบบการทำงานจะได้รับเป็นเงินก้อน
โดยการบูรณาการความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นการเติมเต็มความร่วมมือในการส่งเสริมการออมในกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สช. ต่อเนื่องจากการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาทั้งในและนอกระบบ ตลอดจนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้มีความรู้ด้านการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มทักษะชีวิต การมีระยะเวลาการออมนานด้วยเงินจำนวนน้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็สามารถบริหารเงินในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมเพื่ออนาคตความมั่นคงทางการเงินที่ดีของตัวเอง