ปตท. - กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง สร้างความมั่นคงทางพลังงาน เสริมรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพองฉบับใหม่ ระยะเวลา 10 ปี (2564 – 2574) มูลค่ากว่า 53,000 ล้านบาท เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. เพื่อร่วมกันบริหารจัดการด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศให้สำเร็จลุล่วงมาโดยตลอด ซึ่งสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ฉบับใหม่นี้ จะสอดรับกับสัญญาเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2568 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใช้ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของประเทศจากแหล่งสินภูฮ่อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามสัญญาเพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้แก่ กฟผ. เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าน้ำพอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดและถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับพันธกิจของ ปตท. และ กฟผ. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าน้ำพองจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะรองรับการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โครงการสมาร์ทซิตี้ จ.ขอนแก่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ความร่วมมือของทั้ง ปตท. และ กฟผ. ในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งในการดึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ ปตท. ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดหาและบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากว่า 40 ปี และ กฟผ. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความมั่นคงทางพลังงานและสามารถพัฒนาความเป็นอยู่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ