บีซีพีจี บริษัทผลิตไฟฟ้าและผู้ให้บริการด้านระบบพลังงานอัจฉริยะครบวงจร ยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนแผนพลังงานชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และการส่งเสริมการเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้และเพื่อขายระหว่างกันของประชาชน (Prosumer) รวมถึงการมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว ย้ำเป็นผลดีต่อประเทศโดยรวม
นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพลังงานชาติ มุ่งสู่เป้าหมาย ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065-2070 โดยเฉพาะในด้านพลังงานไฟฟ้า ได้มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเอง (Prosumer) ให้มากขึ้น พร้อมมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตเองใช้เอง รวมถึงการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบสายส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เริ่มดำเนินการร่างหลักเกณฑ์ การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า แผนพลังงานชาติดังกล่าว ถือเป็นการกำหนดทิศทางด้านพลังงานของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปอย่างมีเป้าหมาย และเกิดการพัฒนาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน
บีซีพีจี ในฐานะบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียและผู้ให้บริการด้านระบบพลังงานอัจฉริยะครบวงจร ขอสนับสนุนแผนพลังงานชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองและเป็นผู้ขายไฟฟ้าขณะเดียวกันของภาคประชาชน (Prosumer) เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ครอบคลุมในวงกว้าง ทั้งยังก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพและเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่งจากการวางแผนจัดการที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที
“บริษัทฯ มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับรองรับการเริ่มดำเนินการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าของ Prosumer ในรูปแบบ P2P ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย อาทิโครงการ T77 ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 และ โครงการ CMU Smart City ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564 รวมทั้งโครงการ Sun Share Smart Green Energy Community ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการขออนุญาต Sandbox
โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เล็งเห็นแนวโน้มในการเติบโตของตลาดและการปรับบทบาทของผู้บริโภครายย่อย ประกอบกับสภาวะโลกที่กำลังเปลี่ยนโฉมสู่ยุคดิจิทัล จึงได้ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงานสะอาดเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการนำร่องที่เข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ของ กกพ. จำนวน 4 โครงการ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่พร้อมพัฒนาต่อยอดสู่การซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของกลุ่ม Prosumer” นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับโครงการ ERC Sandbox ที่บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกจาก กกพ. ประกอบด้วย
1. โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 โดยบีซีพีจีและบริษัทในเครือ ได้ร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) พัฒนาพื้นที่ Town 77 บริเวณอ่อนนุช ให้เป็นต้นแบบในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือแนวทางการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบ Peer to Peer ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน ของผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ภายในเขตนครหลวง
2. โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยบีซีพีจี และบริษัทในเครือ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพันธมิตร ร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านพลังงานสะอาด (Smart Energy) ของประเทศ และต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
3. โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community โดยบีซีพีจีได้ร่วมมือกับ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า Smart Grid บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 200 ไร่ ที่มีการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและ Community Mall เพื่อให้เป็นต้นแบบชุมชนสีเขียวแห่งอนาคต (Smart Green Energy Community)
4. โครงการลมลิกอร์ โดยบริษัท ลมลิกอร์ จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในเครือบีซีพีจี ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการลมลิกอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าพยา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้นแบบสำหรับการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ด้วยการนำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม ช่วยลดปัญหาความผันผวนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม และนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ มาใช้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการรองรับธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและการบริหารระบบโครงข่ายในอนาคต
“การพัฒนาทั้ง 4 โครงการ เป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการนำพลังงานทดแทนไปยังผู้บริโภคโดยตรง ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตและบริหารจัดการไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ส่งผลต่อการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และเป็นการต่อยอดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมและแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ” นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย